คำสั่งคำร้องที่ 2716/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า สั่งในอุทธรณ์ ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และสั่งอุทธรณ์ว่า คดีนี้ ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3คืนค่าธรรมเนียมแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า อุทธรณ์ที่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการผู้ออกคำสั่ง ให้จำเลยที่ 1ขับรถยนต์สี่ล้อเล็กไปทางการงานที่จ้าง หรือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผล แห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปเพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับสัมปทานการเดิน รถยนต์ รับจ้าง ไม่มีนิติสัมพันธ์หรืออำนาจบังคับบัญชาจำเลยที่ 1 นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 80,84 แผ่นที่ 2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกัน ชำระเงินจำนวน 36,420.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (7 มกราคม 2536)ต้องไม่เกิน 1,457 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องและสั่งอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 76,74 แผ่นที่ 5)
จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ส่งคำร้องไปศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3มีคำสั่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง มีผลเป็นการยกคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3มายังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาสั่งจึงไม่ถูกต้องให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา(อันดับ 77,92,76)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิจารณาสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234,236 กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ให้ยกคำร้องของ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ขออนุญาต ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2และที่ 3 อาจอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามมาตรา 223 ทวิ จึงให้ยกคำสั่ง ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาสั่งคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป

Share