แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเสนอให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งด้วยการลาออกและจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ โจทก์ตกลงรับข้อเสนอ และทำหนังสือขอเกษียณอายุก่อนครบกำหนด ไม่ใช่การเลิกจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์โต้แย้งว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 54 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เอกสารหนังสือขอเกษียณอายุก่อนครบกำหนดเป็นเอกสารที่ทำขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยสมบูรณ์แล้ว การทำหนังสือเกษียณอายุดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอำพราง การเลิกจ้างของจำเลยนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 48)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำนวน 20,232,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 45)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 47)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 2ประกอบถ้อยคำการสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในเทปบันทึกเสียงหมาย วจ.1และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หมาย ล.1, ล.2 ที่โจทก์ส่งถึงจำเลยที่ 2 ก่อนทำหนังสือขอเกษียณอายุก่อนครบกำหนดเอกสารหมาย จ.2 ตลอดจนข้อความในหนังสือดังกล่าวแล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงโดยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว จำเลยที่ 2 ได้เรียกโจทก์เข้าไปพูดคุยเสนอให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยการลาออกโดยจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ตกลงและทำหนังสือขอเกษียณอายุก่อนครบกำหนดยื่นต่อจำเลยที่ 2โดยสมัครใจ จำเลยที่ 2 อนุมัติและได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์รับไปแล้ว การสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นจากความตกลง ไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้รับฟังว่า จำเลยที่ 2 พูดหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้ทำหนังสือขอเกษียณอายุก่อนครบกำหนด ไม่ใช่โจทก์สมัครใจลาออกดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง