คำสั่งคำร้องที่ 2566/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อ 2 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 เห็นว่า ฎีกาที่ว่า ตราสำคัญของโจทก์ ที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาเช่าซื้อเป็นตราปลอม ไม่ถูกต้องและตรงกันกับตราสำคัญซึ่งโจทก์จดทะเบียนไว้กับ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 64 แผ่นที่ 1 และ แผ่นที่ 7)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถกระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิแอล200หมายเลขทะเบียน7ห-8742 คืนโจทก์ ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคา แทนเป็นเงิน 180,000 บาท กับให้ร่วมกับชำระค่าเสียหาย เป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 19,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ รายเดือนหลังฟ้องต่อไปอีกเดือนละ 1,800 บาท นับถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ 27 มีนาคม 2535 ไปไม่เกิน 1 ปี หรือจนกว่าจะส่งมอบ รถคืนหรือชำระราคาแทนแล้วเสร็จได้เร็วกว่านี้คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 60)
จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 62)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 ย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย การเถียงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุติและต้องห้ามฎีกาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดี ของจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วว่า ตราสำคัญที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและใบสัญญา เช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นตราสำคัญของโจทก์ที่ได้ จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ตราสำคัญของโจทก์ที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือ สัญญาเช่าซื้อเป็นตราปลอมไม่ถูกต้องและตรงกันกับตราสำคัญ ซึ่งโจทก์จดทะเบียนไว้กับกองทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย ปัญหา ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกา ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 นั้น จึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share