คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราตามกฎหมายให้แก่โจทก์ไปแล้วเท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยจำนวนที่ชำระไปแล้วคืนไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำไปหักกลบลบหนี้กับต้นเงินที่จำเลยยังไม่ได้ชำระหรือถือเอาว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้บางส่วนตามสัญญาแล้วได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลยแต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5ต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งเริ่มนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด หาใช่ดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยไม่ เมื่อหนังสือทวงถามครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2541ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 268,305 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 214,946.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาทนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงในชั้นฎีกาฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2ถึง จ.4 รวม 200,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนหรือร้อยละ 36 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยมีสิทธินำเงินดอกเบี้ยที่ชำระแก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะมาหักกลบลบหนี้กับต้นเงินกู้หรือถือเอาว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้บางส่วนตามสัญญาแล้วได้หรือไม่เห็นว่าการที่จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราตามกฎหมายให้แก่โจทก์ไปแล้วเท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระจำเลยจึงหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยจำนวนที่ชำระไปแล้วคืนไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำไปหักกลบลบหนี้กับต้นเงินกู้ที่จำเลยยังไม่ได้ชำระหรือถือเอาว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้บางส่วนตามสัญญาแล้วได้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วตามสัญญาคำนวณแล้วได้เท่ากับอัตราร้อยละ 36 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลย แต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดหาใช่ดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยไม่ เมื่อหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.5 ระบุให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 22 ตุลาคม 2541 จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share