แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 เป็นฎีกา ในข้อเท็จจริง และจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จึงไม่รับฎีกา คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 เห็นว่า ประเด็นปัญหาที่ว่าการดำเนินการของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้นเป็นการ จัดการมรดกเสร็จสิ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 แล้วหรือยัง เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ และคดีนี้ยื่นฟ้อง ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2534 ประกาศใช้ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8ไว้พิจารณา พิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตราจอง เลขที่ 177 ตำบลบางขันแตก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ให้แก่โจทก์ทั้งสองรวมหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินทั้งแปลง แต่ต้องไม่เกิน 5 ไร่ 3 งาน 15.6 ตารางวา ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ หากจำเลยทั้งแปด ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 145)
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 จึงยื่นคำร้องนี้(อันดับ 151)
คำสั่ง
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3ได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องภายในอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อเจ้ามรดก มิได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกย่อมตกทอดยังทายาททุกคนรวมทั้ง โจทก์ทั้งสองด้วย การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก โอนที่พิพาทอันเป็นมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 8โดยไม่โอนให้โจทก์ โดยอ้างว่าเป็นไปตาม ความประสงค์ของนางสมบุญเจ้ามรดกที่สั่งไว้นั้นจึงรับฟังไม่ได้และยังเป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกด้วย ส่วนการโอนที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้แบ่ง ทรัพย์มรดกเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 3 ยังมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่อาจยกอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733ต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และที่อ้างว่าคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2535 จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ก็หาได้มีบทบัญญัติยกเว้นดังที่อ้างไม่ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง