คำสั่งคำร้องที่ 2188/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า ฎีกาในประเด็นที่ว่า ตามสัญญาซื้อขาย และบันทึกการชำระเงินถือว่าจำเลยได้สละเงื่อนเวลา การชำระ เงิน คงเหลือเพียงเงื่อนไขการโอนที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา ฎีกาในประเด็นที่ว่า เมื่อสัญญาซื้อขายมิได้ กำหนดเวลาในการปฏิบัติตามสัญญาไว้ก็ต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงมาบังคับใช้และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้เป็นเวลาห่างกัน 8 ปีนับว่าเป็นเวลาที่ทิ้งห่างกันมากเกินกว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาทั่วไป จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีถ้อยคำอื่นในสำนวนสนับสนุน และฎีกาในประเด็นที่ว่าการบอกเลิกสัญญาซื้อขายต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ และการที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบในประเด็น ดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น โปรดมีคำสั่ง รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยก และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32410 จำนวน 1 ไร่ ให้โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอา คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยส่งมอบ โฉนดที่ดินเลขที่ 32410 ให้โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนแบ่งแยก และโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ส่งมอบให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนเพื่อโจทก์ดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 76)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 78)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลล่างทั้งสองฟังว่าโจทก์ค้างชำระราคาที่พิพาทบางส่วนจำเลยทวงถามแล้วโจทก์ไม่ชำระ จำเลย จึงบอกเลิกสัญญาและคืนเงินให้โจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ฎีกาว่า จำเลยสละเงื่อนเวลาการชำระราคาที่พิพาทแล้วโจทก์ขอชำระราคาที่พิพาทส่วนที่เหลือ จำเลยไม่ยินยอมจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และการบอกเลิกสัญญาของจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือ การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบถึงการบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share