แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษ จำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามข้อกฎหมาย ข้างต้น และผู้พิพากษาผู้พิจารณาก็ไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว ไม่รับฎีกาของโจทก์ โจทก์เห็นว่า คดีนี้สมควรที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพราะการกระทำของจำเลยเป็นความผิดที่ไม่ควรรอการ ลงโทษ โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาด้วย หมายเหตุ จำเลยที่ 1 ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 250) ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,267,268 และ 341 การกระทำของ จำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษ เท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง กระทงเดียว จำคุก 1 ปี ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1อีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 235) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 241)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินสองปี แม้จะรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม คู่ความย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฎีกาของโจทก์ ที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ควรรอการลงโทษให้นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง