คำสั่งคำร้องที่ 1784/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ของจำเลย ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา คดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรอง และผู้พิพากษาดังกล่าว รับรองให้ฎีกาได้ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาฉบับเดิม ตกไปแล้ว เมื่อไม่ยื่นใหม่และคดีพ้นระยะเวลาฎีกา จึงไม่มีเหตุจะส่งสำนวนไปศาลฎีกา จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ไม่รับฎีกาของจำเลยและจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิจารณาคดีนี้รับรองฎีกาแล้วจำเลยไม่ได้ ทำฎีกาฉบับใหม่มายื่นต่อศาลเนื่องจากคิดว่าฎีกาฉบับเดิม ยังคงใช้ได้อยู่จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะกระทำความผิดและ มีโอกาสชนะคดี เมื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิจารณาคดีนี้อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้แล้ว เพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรม โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ จำคุก 5 ปี ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การของจำเลย ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 70) จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิจารณาคดีนี้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญ อันควรสู่ศาลสูงสุดจึงอนุญาตให้ฎีกาได้ ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่ง ให้จำเลยฟังแล้วมีคำสั่งว่า แม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะมีคำสั่งรับรองให้จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาได้ แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาใหม่ ซึ่งฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2538 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยฉบับดังกล่าวแล้ว ฎีกาดังกล่าวจึงตกไป เมื่อจำเลยไม่มีฎีกาใหม่และคดีของจำเลย พ้นระยะเวลาที่จะฎีกาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะส่งสำนวน ไปสู่ศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงของจำเลย (อันดับ 82,83) จำเลยยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาฉบับนี้เป็นการอุทธรณ์คำสั่ง ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ล่วงเลยกำหนด 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่ง (อันดับ 86)

คำสั่ง พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยตามอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้น ที่ไม่รับฎีกาฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 แล้วเห็นว่า เป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งตามรายงานกระบวน พิจารณา ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2538 หา ใช่อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ไม่ อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ คือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2538 จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 พิเคราะห์แล้ว แม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2538 แล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องภายในกำหนดอายุฎีกา ขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ผู้พิจารณาคดีดังกล่าว พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามสำเนาฎีกา ที่แนบมาท้ายคำร้อง โดยที่จำเลยมิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามาอีกเชื่อว่าจำเลยเข้าใจว่าฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้น สั่งไม่รับฎีกาแล้วยังคงใช้ได้อยู่เพื่อประโยชน์แห่งความ เป็นธรรมย่อมอนุโลมได้ว่า จำเลยยอมถือเอาฎีกาฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2538 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยต่อไป ดังนั้นเมื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ผู้พิจารณาคดี ได้พิจารณาเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา ฎีกาของจำเลยฉบับเดิม ก็ยังคงมีผลเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอยู่ ชอบที่ศาลชั้นต้น จะตรวจฎีกาฉบับเดิมของจำเลยว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยัง ศาลฎีกาหรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 แล้วดำเนินการต่อไป

Share