คำสั่งคำร้องที่ 1775/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นฟังมา จะปรับบท เป็นความผิดตามที่ศาลพิพากษาลงโทษ ได้หรือไม่ และการที่ศาลวินิจฉัยปรับบทลงโทษ จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบมาตรา 86 เป็นการปรับบทไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,157 และ 162 ประกอบด้วยมาตรา 86,267 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปีคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลงโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 124)
จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 127)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำให้การรับสารภาพ ของจำเลยในชั้นสอบสวนรับฟังได้หรือไม่ เป็นเรื่อง การชั่งน้ำหนักคำพยานหลักฐาน ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งสำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับบทไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86จึงปรับบทว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยมีเจตนากระทำ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยชอบแล้วให้ยกคำร้อง

Share