แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ยื่นฎีกา 2 ฉบับ ฉบับแรก ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับส่วนฉบับที่สองศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาฉบับที่ทนายโจทก์ยื่นไว้แล้วก่อนหน้านี้ อาศัยเหตุผลในคำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่รับฎีกาฉบับนี้
โจทก์เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือในข้อ 2.1 เป็นข้อเท็จจริงตามฟ้องและที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยรับฟังมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมาย ส่วนข้อ 2.2 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,158,159 หรือไม่ และข้อ 2.3 ปัญหาว่าศาลอุทธรณ์ยกเอาเหตุซึ่งไม่ต้องห้ามตามกฎหมายและไม่เป็นประเด็นในคดีซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 และกฎกระทรวงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 มิได้บัญญัติห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายหรือให้มีการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยทั้งสี่ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 89,90)โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,158,159,165,83,91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ยื่นฎีกา 2 ฉบับ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาทั้ง 2 ฉบับ(อันดับ 78,81)
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาฉบับที่สอง (อันดับ 82,83)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532บัญญัติว่า ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่า ในคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง