แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจเลือกใช้วิธีการ สำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและ ครอบครัว ฯลฯ พ.ศ.2534 มาตรา 104 หรือวิธีการตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74(5) ได้ตามความเหมาะสม และพฤติการณ์แห่งรูปคดี ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจใช้วิธีการ สำหรับเด็กและเยาวชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หาได้เป็นการขัด หรือแย้งต่อบทบัญญัติตามมาตรา 74(5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ และไม่ถือว่าวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวเป็นการ ลงโทษจำเลย คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ มาตรา 214 ประกอบมาตรา 121(2) ฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับ ดุลพินิจในการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนของศาล จึงต้อง ห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ที่จำเลยฎีกาว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สามารถกำหนด ให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ขอให้รอการลงโทษหรือ รอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยนั้น เป็นฎีกาคำพิพากษาของศาล ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเช่นกัน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ประกอบด้วย มาตรา 121(2) ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ได้ด้วยเพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกา ในปัญหาดังกล่าวได้แล้วก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ฯลฯมาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษแก่จำเลยแทนการใช้วิธีการ สำหรับเด็กและเยาวชน โดยขอให้ผู้พิพากษาที่พิพากษาและลงชื่อ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกา จึงไม่อาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้น สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ขณะกระทำความผิดอายุ 16 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนประกอบกับอายุประวัติความประพฤติ ทั้งสภาพของความผิดแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นภัยต่อสตรีเพศโดยทั่วไป ประกอบกับเป็นคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษสูงแต่จำเลยอายุยังน้อยหากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัย ความประพฤติอาจจะเป็นผลดีแก่จำเลย ยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองฎีกาผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนรับรองฎีกา และอนุญาตให้ฎีกาได้ จึงไม่รับรองฎีกาให้ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 และ 75 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาที่ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดามาใช้บังคับดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองฎีกาจึงถูกต้องแล้ว จำเลยมิต้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวรับรองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 122 ขอให้มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลย และมีคำสั่งให้ส่งสำนวนให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ได้ลงชื่อพิพากษาคดีนี้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาต่อไปด้วย
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กฎหมายให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจเลือกใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ พ.ศ.2534 มาตรา 104 หรือวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) ได้ตามความเหมาะสมและพฤติการณ์แห่งรูปคดี ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หาได้เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติตามมาตรา 74(5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ และไม่ถือว่าวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวเป็นการลงโทษจำเลย คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ พ.ศ.2534 มาตรา 214 ประกอบมาตรา 121(2) ฎีกาของจำเลยข้อแรกเป็นฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนของศาล จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
และที่จำเลยฎีกาว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยนั้นเห็นว่า เป็นฎีกาคำพิพากษาของศาลในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเช่นกัน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ประกอบด้วย มาตรา 121(2) ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ด้วย เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดเช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วยและกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯลฯ พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้นที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแก่จำเลยแทนการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยขอให้ผู้พิพากษาที่พิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกา จึงไม่อาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”