คำสั่งคำร้องที่ 1527/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าคำเบิกความของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความเท็จ ส่วนความผิดฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับโจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ตามข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดทั้งสองข้อหา สรุปตอนท้ายว่า ฎีกาของโจทก์เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยมิได้กล่าวว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่มิได้แสดงไว้โดยชัดเจนในปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบ มาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องในสำนวนแรกขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177, 341 สำนวนที่สองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177, 180, 341ในระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันให้เรียกเรืออากาศเอกอำนาจ ธรรมกามี เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวลัดดาวัลย์ พรหมแสล่ง เป็นจำเลยที่ 2

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จและข้อหานำสืบหรือสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ส่วนข้อหาฉ้อโกงเห็นว่าไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความเท็จ ส่วนความผิดฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ ต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัยแล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับเพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ตามข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดทั้งสองข้อหา แล้วสรุปตอนท้ายว่า ฎีกาของโจทก์เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นที่สำคัญขอให้มีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ โดยมิได้กล่าวว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง จึงเป็นฎีกาที่มิได้แสดงไว้โดยชัดเจนในปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์”

Share