แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจ กรรโชกให้ผู้เสียหายมอบเนื้อกระบือชำแหละแล้ว 140 กิโลกรัม ให้แก่จำเลยกับพวก มิฉะนั้น จำเลยกับพวกจะยึดเนื้อกระบือชำแหละแล้ว 500 กิโลกรัม ไปตรวจสอบอันจะเป็นเหตุให้เนื้อดังกล่าวเสียหาย และจะจับกุมผู้เสียหาย กับพวกทำให้ปราศจากเสรีภาพ ผู้เสียหายกับพวกจึงยอมมอบเนื้อ140 กิโลกรัมให้จำเลยกับพวกไป เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายโดยละเอียดครบถ้วนในลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 337 แล้ว ทั้งบทบัญญัติแห่งกฎหมาย 2 มาตราดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุองค์ประกอบความผิดว่าผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตด้วย คำบรรยายฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายคิดเป็นเงิน 6,000 บาท กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 432 คือจำเลยกับพวกต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น คำว่า ‘ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน’ หมายความว่า แต่ละคนจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง อันมีฐานะเช่นเดียวกับลูกหนี้ร่วม
ฎีกาขอให้รอการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งรับราชการเป็นตำรวจประจำแผนก ๕ กองกำกับการ ๑ กองปราบปราม และนายดาบตำรวจประคอง บุญธรรม ซึ่งรับราชการเป็นตำรวจประจำแผนก ๑ กองกำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจสันติบาลและยังหลบหนีอยู่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ กรรโชกนายชิต ปานพุ่มกับพวกซึ่งครอบครองดูแลรักษาเนื้อกระบือชำแหละแล้วจำนวน ๕๐๐ กิโลกรัม ของนางมณี ปานพุ่ม โดยร่วมกันตรวจค้นและกล่าวหาว่าเนื้อกระบือบางส่วนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มอบเนื้อกระบือจำนวน ๑๔๐ กิโลกรัม แก่ตนและพวกอีก ๒ คน หากไม่ยอมมอบให้จะยึดเนื้อกระบือจำนวน ๕๐๐ กิโลกรัมไปตรวจสอบและจับกุมนายชิต ปานพุ่ม กับพวก อันจะเป็นเหตุให้เนื้อกระบือทั้งหมดเสียหายและส่งให้ลูกค้าไม่ทัน นายชิต ปานพุ่ม กับพวกจึงมอบเนื้อกระบือจำนวน ๑๔๐ กิโลกรัม ราคา ๖,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๔๘, ๓๓๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๖,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘, ๓๓๗, ๘๓ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ ประกอบด้วยมาตรา ๙๐ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดให้จำคุก ๕ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๖,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาสรุปได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาทุจริต จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจ กรรโชกให้ผู้เสียหายมอบเนื้อกระบือชำแหละแล้ว ๑๔๐ กิโลกรัม ให้แก่จำเลยกับพวก มิฉะนั้นจำเลยกับพวกจะยึดเนื้อกระบือชำแหละแล้ว ๕๐๐ กิโลกรัม ไปตรวจสอบอันจะเป็นเหตุให้เนื้อดังกล่าวเสียหาย และจะจับกุมผู้เสียหายกับพวกปราศจากเสรีภาพ ผู้เสียหายกับพวกจึงได้ยอมมอบเนื้อ ๑๔๐ กิโลกรัมให้จำเลยกับพวกไป เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายโดยละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ และ ๓๓๗ ที่ขอให้ลงโทษแล้ว ทั้งบทกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุองค์ประกอบความผิดว่าผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริต คำบรรยายฟ้องคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยฎีกาปัญหาข้อสองว่า ในการให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นจำเลยควรต้องรับผิดเพียง ๑ ใน ๔ เนื่องจากมีผู้ร่วมกระทำผิดร่วมกับจำเลยอีก ๓ คน เห็นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายคิดเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๒ ที่บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ฯลฯ คำว่า “ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน” มีความหมายว่า แต่ละคนจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงอันมีฐานะเช่นเดียวกับลูกหนี้ร่วม ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินทั้งหมดที่จำเลยกับพวกได้ไปจากผู้เสียหายได้โดยมิต้องแบ่งส่วนให้จำเลยรับผิดตามจำนวนผู้กระทำผิด
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน