แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31วรรคสอง (3) และมิได้มีการสอบสวนจำเลยในข้อหาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ และคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคสอง (1)(2)(3) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11,54,69 วรรคสอง (1)(2),72 ตรี วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง (1)(2) เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกก่อสร้าง แผ้วถาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าต้นน้ำลำธาร ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก6 ปี 8 เดือน ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคสอง (3) ความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต คงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484เพียงอย่างเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 76)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 89)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาจำเลยที่อ้างว่า พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาในข้อหาที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ไม่ได้มีการสอบสวนในข้อหาดังกล่าว และศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 และเป็นการฎีกาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษและคงลงโทษจำเลยในแต่ละข้อหา จำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาจำเลย ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง