คำสั่งคำร้องที่ 1430/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาข้อ 2.1.1 เกี่ยวกับบุคคลที่ร้องทุกข์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนย่อมดำเนินคดีได้โดยมิต้องร้องทุกข์ แต่จำเลยกลับโต้แย้งโดยอ้างส่งเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 เป็นการส่งพยานเอกสารเพิ่มเติม จึงไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไร้สาระ ฎีกาข้อ 2.1.2 เรื่องโต้แย้งอำนาจสอบสวน ข้อนี้จำเลยรับสารภาพโดยไม่เคยโต้แย้งมาก่อน แต่กลับกล่าวอ้างสถานที่เกิดเหตุ จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ต้องห้ามฎีกา จึงไม่รับฎีกาจำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 2.1.1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นสาระสำคัญศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม ส่วนฎีกาข้อ 2.1.2 ที่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุนั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนการสอบสวน แม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งมาก่อน แต่ปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 28)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 26)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 28)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ว่า คดีนี้ซึ่งไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ด้วยตนเองพนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนนั้นเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้อต่อมาของจำเลยที่ว่าสถานที่เกิดเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนนั้น ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนดังจำเลยฎีกา ดังนั้น ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างในฎีกาจึงไม่อาจเกิดได้ ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย ชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share