คำสั่งคำร้องที่ 1374/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า รับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6ส่วนข้อ 2.7 เป็นการอุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาล มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งไม่รับโจทก์ทั้งเก้าเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำสั่งของศาลที่งดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2533 นั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 14 มีนาคม 2533 คัดค้านและโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าวไว้แล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.7จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ทนายจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว เฉพาะจำเลยที่ 2 แถลงคัดค้าน (อันดับ 112,116)
คดีทั้งสี่สำนวนนี้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลรายเดียวกันศาลแรงงานกลางสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันและให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองหรือที่ 1หรือที่ 2 รับโจทก์ทั้งเก้ากลับเข้าทำงาน หากไม่รับกลับเข้าทำงานขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย แก่โจทก์ทั้งเก้าพร้อมทั้งดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจำนวน25,400 บาท ค่าชดเชยจำนวน 30,480 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 5,080 บาทแก่โจทก์ที่ 7 จ่ายค่าเสียหายจำนวน 13,320บาท ค่าชดเชยจำนวน 19,980 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,886 บาทแก่โจทก์ที่ 8 และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 29,340 บาทแก่โจทก์ที่ 9 และให้จำเลยที่ 1 ให้ดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง คือสำหรับโจทก์ที่ 7วันที่ 13 ตุลาคม 2532 โจทก์ที่ 8 วันที่ 18 ตุลาคม 2532 และโจทก์ที่ 9 วันที่ 27 ตุลาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ทั้งเก้าให้ยก
โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์บางข้อดังกล่าว (อันดับ 101)
โจทก์ทั้งเก้าจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 105)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ตามข้อ 2.7 ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์โดยที่โจทก์ยังมีพยานเข้าสืบอีกหลายปาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งเก้ากับจำเลยที่ 2มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้าง ลูกจ้างอย่างไร ซึ่งหากศาลได้ฟังพยานดังกล่าวแล้ว จะต้องเห็นเหตุผลอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งเก้า เห็นว่าหลังจากที่โจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว ศาลแรงงานกลางได้สอบถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบต่อไปโดยละเอียดตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่13 มีนาคม 2533 แล้วเห็นว่าเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น จึงให้งดสืบพยานโจทก์ต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานใช้ดุลพินิจสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 อันเป็นข้อเท็จจริงแม้โจทก์จะได้โต้แย้งคำสั่งไว้ ก็ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share