แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ร่วมยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220จึงไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อที่ 3 กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนฎีกาข้อที่ 4มีปัญหาว่าศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ และเป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือไม่ และฎีกาข้อที่ 5 โต้แย้งว่าข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ทุกข้อดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 104)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(8)ระหว่างการพิจารณา นางสาวขวัญใจ นามจันทร์ ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 98)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 100)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13บัญญัติว่า “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์” เป็นการห้ามคู่ความฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมชอบแล้วยกคำร้อง