แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลย 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แม้จะเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่การที่โจทก์ฎีกาเรื่อง ดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้าม ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จึงไม่รับ ฎีกาของโจทก์ โจทก์เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกเป็นการ รอการลงโทษจึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โปรดมี คำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 68) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 69)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นปรับจำเลย 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท การที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่มีเหตุสมควร เป็นการฎีกาดุลยพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้น สั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง