คำสั่งคำร้องที่ 1180/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับฎีกานั้น จำเลยต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบด้วยมาตรา 247 จึงมีคำสั่ง ไม่รับคำร้อง คืนค่าคำร้องให้จำเลย จำเลยเห็นว่า กรณีตามคำร้องของ จำเลยฉบับลงวันที่ 17 และ 19 เมษายน 2538 เป็นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบด้วยมาตรา 247 มาบังคับได้ และเมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับฎีกา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252บัญญัติให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาไปยังศาลฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์เสียเองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้ศาลโปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และมี คำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ไปยังศาลฎีกา เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ไต่สวน คำร้องของ จำเลยและรับฎีกาของจำเลยต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทของโจทก์ ห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีก และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่พิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องลงวันที่ 20 มีนาคม 2538ขอขยายเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยนำเงินมาวางศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2538 มิฉะนั้นจะไม่รับฎีกา ต่อมาจำเลยไม่นำเงิน มาวางภายในกำหนด วันที่ 4 เมษายน 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ว่า จำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่รับฎีกา (อันดับ 169,167) จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 17 เมษายน 2538 ว่าเข้าใจผิดว่าศาลอนุญาตให้ขยายเวลาวางเงินได้อีก 30 วัน ตามคำร้องและเพิ่งทราบว่าศาลอนุญาตให้วางเงินภายในวันที่ 30 มีนาคม 2538 จึงขอวางเงินและขอให้รับฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 19 เมษายน 2538 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา และคำสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2538 ศาลชั้นต้น มีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 172) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 173)

คำสั่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฎีกาด้วยเหตุจำเลยไม่วางเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาภายในกำหนด แล้วจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 17 เมษายน 2538 ขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลและขอให้รับฎีกา ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้วางเงิน ยกคำร้อง จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นดังกล่าวตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 19 เมษายน 2538 ต่อศาลฎีกาเป็น 2 ข้อคือ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่รับฎีกา กับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ วางเงินค่าธรรมเนียมศาล ดังนั้น สำหรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาล ที่ไม่รับฎีกานั้น จำเลยไม่นำเงินมาชำระตามคำพิพากษา หรือหาประกันมาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบด้วยมาตรา 247 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องดังกล่าวจึงชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้วางเงินค่าธรรมเนียมศาลนั้น ต้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ ตามมาตรา 223 แต่เมื่อคดี ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วก็เห็นสมควรวินิจฉัย ไปเสียเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลา วางเงินค่าธรรมเนียมศาลไป 10 วัน ครบกำหนดวันที่ 30 มีนาคม 2538 แล้ว จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางโดยจำเลยยื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในภายหลังจึงเป็นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลอีกนั่นเอง ซึ่งการขยายระยะเวลาต้องยื่นคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 23 ปรากฏว่า จำเลยยื่นคำขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาล เมื่อล่วงเลยวันที่ 30 มีนาคม 2538 แล้ว และเหตุที่จำเลยอ้างว่า ทนายจำเลยแจ้งว่าได้ขอขยายระยะเวลาให้ 30 วันแล้ว ให้นำเงินมามอบให้ทนายความภายใน 15 วันนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง ต้องถือว่า ทนายจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อทนายจำเลยทราบคำสั่ง เท่ากับตัวจำเลยทราบคำสั่งนั้นด้วย และข้ออ้างที่ว่าทนายจำเลยบอกให้นำเงินมาวางศาลภายในวันที่ 4 เมษายน 2538 ซึ่งล่วงเลยวันที่ 30 มีนาคม 2538 แล้ว จึงขัดต่อเหตุผล และไม่เป็นเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้วางเงิน ค่าธรรมเนียมศาลนั้นชอบแล้ว ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

Share