คำวินิจฉัยที่ 9/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้นายอำเภอเมืองพิษณุโลก และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ที่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยทั้งสองนำชี้แนวเขตให้ถูกต้องตามเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การคัดค้านการรังวัดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงของที่ดินโจทก์เพื่อระวังแนวเขตอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอสอบเขตโฉนดที่ดินของตน อันเป็นเพียงการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียง มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติถึงกรณีผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงคัดค้านการรังวัดว่า “หากปรากฏมีผู้คัดค้านให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนไกล่เกลี่ยถือหลักฐานแผนที่เป็นหลักในการพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลง แต่ต้องไม่เป็นการสมยอมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งคู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่มีการฟ้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอไม่ประสงค์จะสอบเขตโฉนดที่ดินนั้นต่อไป” กรณีจึงเป็นเรื่องการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองผู้รักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียง เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ นางสาวแจ่ม สนสิริ โจทก์ ยื่นฟ้องนายอำเภอเมืองพิษณุโลก ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ ๓๒/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๒๕๖๓ และเลขที่ ๑๓๒๕๖๕ ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ ๑ งาน ๙๐ ตารางวา และเนื้อที่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา ตามลำดับ เมื่อโจทก์ยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชี้แนวเขตทางสาธารณประโยชน์ล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงทำให้เนื้อที่ขาดหายไปแปลงละ ๒๐ ตารางวา การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำคัดค้านและนำชี้แนวเขตให้ถูกต้องตรงตามเนื้อที่ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ทุกฉบับ และรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่โจทก์ให้ได้เนื้อที่ตรงตามโฉนด
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การคัดค้านการรังวัดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์และรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ให้ได้เนื้อที่ตรงตามโฉนดได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำรังวัดแนวเขตที่ดินของโจทก์ และรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ให้ได้เนื้อที่ตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง ซึ่งจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินบริเวณที่โจทก์นำชี้ทับทางสาธารณประโยชน์นั้นเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยการวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ก็มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อคดีนี้มีประเด็นหลักที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และข้อ ๖ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่อโจทก์เห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และแม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้นายอำเภอเมืองพิษณุโลก และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ที่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยทั้งสองนำชี้แนวเขตให้ถูกต้องตามเนื้อที่ ในโฉนดที่ดินของโจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การคัดค้านการรังวัดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงของที่ดินโจทก์เพื่อระวังแนวเขตอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอสอบเขตโฉนดที่ดินของตน การคัดค้านการรังวัดดังกล่าวจึงเป็นเพียงการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียง มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติถึงกรณีผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงคัดค้านการรังวัดว่า “หากปรากฏมีผู้คัดค้าน ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนไกล่เกลี่ยถือหลักฐานแผนที่เป็นหลักในการพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลงแต่ต้องไม่เป็นการสมยอมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งคู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่มีการฟ้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอไม่ประสงค์จะสอบเขตโฉนดที่ดินนั้นต่อไป” กรณีจึงเป็นเรื่องการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองผู้รักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียง เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวแจ่ม สนสิริ โจทก์ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share