คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลงข้อความและบทความในหนังสือพิมพ์เป็นเชิงเปรียบเปรยให้เข้าใจว่าผู้พิพากษาสั่งเลื่อนคดีโดยไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมหาไม่ได้แสดงว่าประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของพยานและเหนือศาลจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา32(2)ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำคุก 2 เดือน ศาลฎีกาไม่แก้ดุลพินิจ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ฟ้องนายพิชัย เกียรติดำเนินงาม จำเลย ในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท กับคดีที่นายวิจิตร ศุกร์ประเสริฐ และนางนิรชร ไขแสง ต่างเป็นโจทก์ฟ้องนายพิชัยเกียรติดำเนินงาม เป็นจำเลยในข้อหาเดียวกัน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน ปรากฏว่าในวันที่ 24 มีนาคม 2523 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ไปวันที่ 24 เมษายน 2523 แล้ว ต่อมาวันเดียวกันนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความของนายวิจิตร ศุกร์ประเสริฐ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่านายแพทย์สุพพจ สุรภัฏพิศิษฐ์ พยานโจทก์ไม่มาศาลตามหมายเรียก ขอให้ออกหมายจับ ศาลชั้นต้นสั่งว่า “ศาลสั่งเลื่อนคดีไปแล้วประกอบกับพยานที่ไม่มาศาลเป็นนายแพทย์อาจติดงานจำเป็นก็ได้ คดีไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ หากโจทก์ยังประสงค์จะอ้างมาเป็นพยานก็ให้ขอออกหมายใหม่” ต่อมาปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 22 เมษายน 2523 ว่า หนังสือพิมพ์ “มิตรมวลชน” ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 16-30 เมษายน 2523 มีนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ และรักษาการแทนผู้พิมพ์โฆษณา ได้ลงข้อความและบทความเกี่ยวกับการดำเนินคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นเรียกมาสอบถาม เมื่อไม่มาจึงออกหมายจับมา สอบถามแล้ว นายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าตนเป็นเจ้าของ บรรณาธิการและรักษาการแทนผู้พิมพ์โฆษณาจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี พอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32(2) เป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลจึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดสองเดือน

นายสมศักดิ์ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

นายสมศักดิ์ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าข้อความและบทความในหนังสือพิมพ์ “มิตรมวลชน” ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 16-30เมษายน 2523 ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของพยานและเหนือศาล พอเห็นได้ว่าทำให้การพิจารณาคดีต้องเสียความยุติธรรม ซึ่งนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา ต้องรับโทษฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานในสำนวนว่า วันที่ 24 มีนาคม 2523 เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 24 เมษายน 2523 เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไปราชการ ต่อมาในวันเดียวกันนายสมศักดิ์ สาริกะภูติทนายความของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ลงโทษนายแพทย์สุพพจ สุรภัฎพิศิษฐ์พยานที่ไม่มาศาลฐานขัดหมายเรียกและให้ออกหมายจับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นใจความว่า ศาลสั่งเลื่อนคดีไปแล้ว พยานเป็นแพทย์อาจติดงานจำเป็นไม่จำต้องออกหมายจับ ครั้นต่อมาปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 22เมษายน 2523 ว่าหนังสือพิมพ์ มิตรมวลชน ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 16-30 เมษายน 2523 ซึ่งนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ทนายความโจทก์ เป็นบรรณาธิการและรักษาการแทนผู้พิมพ์โฆษณา พาดหัวข่าวว่า “สุพพจขัดหมายศาล” ซึ่งเนื้อข่าวหมายถึงนายแพทย์สุพพจพยานดังกล่าว และมีข้อความให้เข้าใจว่านายแพทย์สุพพจพยานขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกพยาน แต่ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคดีศาลมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ปรากฏในคำเตือนพยานด้านหลังหมายเรียกพยานกล่าวคือมิได้ออกหมายจับเอาตัวมากักขังไว้ ประกอบกับในหน้า 8 ของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันในคอลัมน์ “เหตุเกิดที่ทาราดาน เบื้องหลังการต่อสู้” มีข้อความเปรียบเปรยเป็นเรื่องการแข่งขันชกมวยมีรายชื่อกรรมการผู้ตัดสินดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนจากชื่อแท้จริงของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในขณะนั้นรวม 3 นาย โดยมุ่งหมายให้เข้าใจและก็เข้าใจได้ในทันทีว่ากรรมการผู้ตัดสินหมายถึงผู้พิพากษาเหล่านี้ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลผู้นั่งพิจารณาคดี และผู้พิพากษาผู้มีคำสั่งให้เลื่อนคดีดังกล่าวรวมอยู่ด้วย กับมีข้อความว่า กรรมการชูมือให้นักมวยฝ่ายที่ชื่อไอ้พจโกงไม่เลือก เป็นฝ่ายชนะคะแนนไปเสียฉิบ และในท้ายที่สุดกล่าวว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความยุติธรรมในเวทีชกมวยนั้นหาไม่ได้” ดังนี้เห็นว่าข้อความตามที่กล่าวมาแต่ต้นมุ่งเสนอข้อความว่านายแพทย์สุพพจพยานขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกพยาน ซึ่งความจริงมิได้ปรากฏเช่นนั้น และอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าว กล่าวถึงการที่ศาลไม่ออกหมายจับนายแพทย์สุพพจ โดยกล่าวย้ำข้อความที่พยานขัดหมายศาล คำเตือนพยานด้านหลังหมาย ตัวบทกฎหมาย และคำสั่งศาลที่ไม่ออกหมายจับพยาน เพื่อให้เข้าใจว่าพยานขัดหมายศาล แต่ศาลไม่ออกหมายจับ แสดงว่าศาลมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง ตลอดทั้งกล่าวเป็นเชิงเปรียบเปรยให้เข้าใจว่ากรรมการผู้ตัดสินการแข่งขันชกมวยหมายถึงผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีและผู้สั่งให้เลื่อนคดีไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมหาไม่ได้ เหล่านี้แสดงว่า ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของพยานและเหนือศาล เห็นได้ว่า จะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป ฉะนั้น นายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ไว้มีกำหนดสองเดือนชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุเพียงพอให้เปลี่ยนแปลงดุลพินิจการกำหนดโทษของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของนายสมศักดิ์ สาริกะภูติ ผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share