คำวินิจฉัยที่ 89/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีนี้เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๔ ลักษณะ ๒ การที่จะวินิจฉัยว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณากระบวนการบังคับคดีและขั้นตอนการขายทอดตลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลยุติธรรม ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๙/๒๕๕๙

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดภูเก็ต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ นางสุมิตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ไม่ดำเนินการบังคับคดีตามบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๒๑๕ และ ๓๒๒๑๖ ตำบลวิชิต (ระเงง) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๙/๒๕๓๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๓๐๔/๒๕๓๙ ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นางสาวสมาพร สินสิริ จำเลย ผู้ฟ้องคดีประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ ต่อมาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประมูลซื้อได้ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ และศาลฎีกา มีคำพิพากษายืน

ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ผู้ฟ้องคดีประมูลซื้อได้เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็น
เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๒๑๕ และ ๓๒๒๑๖ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ๒ หลัง และเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคาร เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ขาดรายได้จากค่าเช่าอาคาร ๒ หลัง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระราคาค่าซื้อทรัพย์และยังไม่ได้รับเงินที่ผู้ฟ้องคดีชำระค่าซื้อทรัพย์ที่ประมูลได้คืนจากกรมบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๓๖๖,๗๘๕.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย ชดใช้ค่าขาดประโยชน์ ตามสัญญาเช่าให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน เดือนละไม่น้อยกว่า ๙,๘๐๐ บาท นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การขายทอดตลาดเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์ที่นำมาประกาศขายนั้นเป็นทรัพย์ของจำเลยในคดีแพ่งที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งการยึดให้กับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ได้ก็ไม่มีเหตุขัดข้องในการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลจังหวัดอุบลราชธานีแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท และไม่แจ้งว่าผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตามมาตรา ๓๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น เป็นการข้ามขั้นตอนในการบังคับคดีตามที่กฎหมายกำหนดส่งผลให้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาดได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลบรรลุผล และเมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดี

จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยทำการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๗๘ บัญญัติไว้ว่า “ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้นและดำเนินวิธีการบังคับทั่ว ๆ ไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี รวมทั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดี มีอำนาจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีได้” จากบัญญัติดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดี มีอำนาจในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้การบังคับคดีบรรลุผลตามคำพิพากษา การขายทอดตลาดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๖ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้ยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างหรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคําพิพากษาแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคําขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาต ให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่มีผู้คัดค้านในการขายทรัพย์ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๓๐๗ ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตตามคําขอ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบ ซึ่งคําสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น” ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจหน้าที่จะต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดขั้นตอนให้ต้องกระทำเพื่อให้การขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตว่าการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น เป็นการข้ามขั้นตอนในการบังคับคดีตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้การขายทอดตลาดทรัพย์สินมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาดได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เห็นว่าการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้การขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเป็นการดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้

เป็นการเฉพาะ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนในการขายทอดตลาด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นเป็นการข้ามขั้นตอนในการบังคับคดีตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้การขายทอดตลาดทรัพย์สินมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาดไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีนี้เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๔ ลักษณะ ๒ การที่จะวินิจฉัยว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณากระบวนการบังคับคดีและขั้นตอนการขายทอดตลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลยุติธรรม ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสุมิตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ฟ้องคดี กรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม (ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share