คำวินิจฉัยที่ 85/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนผู้มีชื่อใน น.ส. ๓ ก. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไข น.ส. ๓ ก. ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๕/๒๕๕๙

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดอุดรธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นายชู กาทอง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขาเพ็ญ ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุดรธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๖/๒๕๕๗ ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งเรียกนายวิรัตน์ แสงสุวรรณ เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดและกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๙๐ ตารางวา ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ แต่ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๓๓๙ เลขที่ดิน ๓๑ ตำบลจอมศรี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่ดินเพียง ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบเนื้อที่ของที่ดินแปลงดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๒๙ เนื้อที่ ๙๕ ไร่ ๓ งาน ให้แก่นายไสว เชิดทอง ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบ ซึ่งต่อมานายไสวได้จดทะเบียน โอนขายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๒๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า การออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ให้แก่นายไสว เชิดทอง ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ออกทับ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๓๓๙ ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตในเอกสารครบถ้วนและมิได้ทำการคัดค้านแนวเขตแต่อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายโดยซื้อมาจากนายไสว เชิดทอง และเป็นคนละแปลงกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีบุกรุกที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญากับผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๒๙ ตำบลจอมศรี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ให้แก่นายไสว เชิดทอง ทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๓๓๙ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สอบสวนไกล่เกลี่ยแต่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้จึงได้แจ้งให้ไปใช้สิทธิฟ้องศาล ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไข น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ให้กับบุคคลอื่นทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคำขอที่ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนประเด็นปัญหาว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี ซึ่งศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ตามนัยข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่คดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นข้อหาใดมีหลายประเด็นเกี่ยวพันกัน และปรากฏว่ามีประเด็นที่จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้อยู่ในอำนาจหรือเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่นหรือศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นซึ่งรับคดีไว้ มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันกันที่ต้องวินิจฉัยก่อนนั้นเพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ และแม้การวินิจฉัยประเด็นย่อยดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน แต่การพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่หลักเกณฑ์สำหรับนำมาเพื่อที่จะใช้พิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงย่อมสามารถนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก โดยคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเอกชน ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๙๐ ตารางวา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๓๓๙ เลขที่ดิน ๓๑ ตำบลจอมศรี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่เพียง ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีทำนาและปลูกอ้อยในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ จนถึงปัจจุบัน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ขอตรวจสอบที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขาเพ็ญ แล้วปรากฏว่ามีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๒๙ เลขที่ดิน ๖๔ ตำบลจอมศรี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๙๕ ไร่ ๓ งาน ให้แก่นายไสว เชิดทอง ทับที่ดินในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ประมาณ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๙๐ ตารางวา โดยมิชอบ ซึ่งต่อมานายไสวได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ฟ้องคดีจึงใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นสำคัญ การออกหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิที่แท้จริงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้รับฟังได้เป็นที่ยุติก่อนว่าระหว่างผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ใดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเสียก่อนโดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นสำคัญซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประเด็นดังกล่าวยังไม่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครอง แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป อีกทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่างเป็นโจทก์และจำเลยยื่นฟ้องซึ่งกันและกันต่อศาลจังหวัดอุดรธานีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๑๑๑/๒๕๕๘ เรื่องสิทธิครอบครอง และคดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๖๒/๒๕๕๘ เรื่องขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ศาลรวมการพิจารณาคดีและให้เรียกผู้ฟ้องคดีว่า โจทก์ เรียกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ว่า จำเลย คดีอยู่ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเดียวกัน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นคดีที่เอกชนผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ให้แก่ผู้มีชื่อทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไข น.ส. ๓ ก. ที่พิพาทในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า การออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ออกทับที่ของผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเป็นคนละแปลงกันและผู้ฟ้องคดีบุกรุกที่พิพาทผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๒๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายชู กาทอง ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานสาขาเพ็ญ ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ นายวิรัตน์ แสงสุวรรณ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share