แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ระบบ HF/SSB/AM CW ชนิดประจำที่ ขนาดกำลัง ๑๒๕ วัตต์ พร้อมอุปกรณ์จำนวน ๓๐ ชุด เป็นเงิน ๑๐,๐๔๗,๓๐๐ บาท โจทก์ส่งมอบเครื่องรับ – ส่งวิทยุดังกล่าวให้ตัวแทนจำเลย แต่ตัวแทนจำเลยอ้างว่าไม่สามารถตรวจรับไว้ได้เพราะไม่มีคุณสมบัติตามคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคหรือทางวิชาการที่ทางราชการกำหนดไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยรับมอบและชำระเงินค่าเครื่องรับ – ส่งวิทยุดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ผลการตรวจรับพบว่าเครื่องรับ – ส่งวิทยุที่พิพาท ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคหรือทางวิชาการที่ทางราชการกำหนดไว้โจทก์จึงไม่รับเครื่องรับ – ส่งวิทยุดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายเครื่องรับ – ส่งวิทยุที่พิพาท เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า สัญญาใดจะเป็นสัญญาทางปกครองนอกจากคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐและมีวัตถุประสงค์ของสัญญาเพื่อให้การบริการสาธารณะบรรลุผลแล้ว สัญญานั้นต้องมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือ เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ การทำสัญญาซื้อขายเครื่องรับ – ส่งวิทยุที่พิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเพียงการทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อหากำไรของโจทก์ในฐานะผู้ขาย ความสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งในฐานะผู้ซื้อที่มุ่งผูกพันตนตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาที่จะเข้าองค์ประกอบของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น สัญญาซื้อขายเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ระบบ HF/SSB/AM CW ชนิดประจำที่ ขนาดกำลัง ๑๒๕ วัตต์ ที่พิพาท จึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม