คำวินิจฉัยที่ 82/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

สัญญาที่เอกชนฟ้องบังคับให้หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐชำระเงินกรณีผิดสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสาร โดยมีวัตถุแห่งสัญญาว่าให้ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสาร จึงไม่ใช่ลักษณะของการมอบหมายให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง ทั้งเครื่องถ่ายเอกสารไม่ใช่เครื่องมือสำคัญ แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการผลิตเอกสารการเรียนการสอนเท่านั้น วัตถุแห่งสัญญาจึงไม่ใช่เรื่องการให้โจทก์เข้าจัดทำบริการสาธารณะ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๒/๒๕๕๙

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดกันทรลักษ์
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีสะเกษ ไอเฟค โจทก์ ยื่นฟ้อง โรงเรียนบ้านหนองกระทิง ที่ ๑ นายปรีชา จารุวงศ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๗/๒๕๕๘ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อฟูจิ รุ่น เอส ๒๐๑๐ จำนวน ๑ เครื่อง ราคา ๗๘,๐๐๐ บาท จากโจทก์ กำหนดชำระราคาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับสินค้า โจทก์ได้ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยมีตัวแทนลงลายมือชื่อรับสินค้าไว้แทน เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๗๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงทำสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อ ฟูจิ รุ่นเอส ๒๐๑๐ กับโจทก์ แต่พนักงานของโจทก์ได้ใช้กลอุบายทำให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ สำคัญผิดว่าพนักงานของโจทก์เป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดไพศาลวิทยา ซึ่งจำเลยที่ ๑ ตกลงจะทำสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารด้วย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อการซื้อขายสินค้ากับโจทก์ อันเป็นการสำคัญผิดในตัวผู้ขายซึ่งเป็นสาระสำคัญ ทั้งการส่งมอบสินค้าของโจทก์ไม่มีการตรวจรับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไพศาลวิทยา และมีการตรวจรับถูกต้องตามระเบียบแล้ว จำเลยทั้งสองได้แจ้งให้โจทก์มารับเครื่องถ่ายเอกสารคืน แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการใช้สิทธิจากการลวงขายสินค้าโดยไม่สุจริต เอกสารใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษีที่โจทก์นำไปใช้เป็นหลักฐานฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น โจทก์ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความลงในเอกสารโดยไม่ชอบ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ สัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้คู่สัญญาอีกฝ่ายเข้าดำเนินการ หรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐซึ่งก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันระหว่างคู่สัญญาแต่อย่างใด แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน จึงเป็นสัญญาจัดหาพัสดุธรรมดา ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่งที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น ดังนั้น คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกรอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันเป็นบริการสาธารณะของรัฐ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ มีความจำเป็นต้องซื้อเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงทำบันทึกเลขที่ ๒/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ รายงานการขอซื้อต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงมีใบสั่งซื้อ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ กับโจทก์ ตกลงซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร สัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเครื่องถ่ายเอกสารมาใช้ในการเรียนการสอนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งโดยสภาพในปัจจุบันถือได้ว่า เครื่องถ่ายเอกสารเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน เป็นต้นว่า ทำสำเนารูปภาพ ทำสำเนาเอกสารต่างๆ เพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอน รวมทั้งการทำสำเนาแบบทดสอบเพื่อการวัดผลประเมินการเรียนการสอน ประกอบกับก่อนที่จะมีการซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ให้เหตุผลความจำเป็นในการซื้อเครื่องถ่ายเอกสารว่า มีความจำเป็นต้องซื้อเพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนตามแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงเห็นว่า สัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาที่มีวัตถุแห่งสัญญาเพื่อจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ ๑ ให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารให้กับจำเลยที่ ๑ แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ผิดนัดไม่ชำระราคาเครื่องถ่ายเอกสารให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองชำระราคาเครื่องถ่ายเอกสารพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชำระเงินแก่โจทก์ กรณีผิดสัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อฟูจิ รุ่นเอส ๒๐๑๐ จำนวน ๑ เครื่อง กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายเครื่องถ่ายเอกสารที่โจทก์อ้างตามฟ้องมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จำเลยที่ ๑ เป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา ๓๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่วัตถุแห่งสัญญาพิพาทมีสาระสำคัญเพียงว่าให้โจทก์ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสาร จำนวน ๑ เครื่อง ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการมอบหมายให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง ทั้งเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือสำคัญ ซึ่งหากขาดไปจะทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่อาจจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาให้บรรลุผลได้ เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการผลิตเอกสารการเรียนการสอนเท่านั้น เมื่อวัตถุแห่งสัญญาไม่ใช่เรื่องการให้โจทก์เข้าจัดทำบริการสาธารณะ และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีสะเกษ ไอเฟค โจทก์ โรงเรียนบ้านหนองกระทิง ที่ ๑ นายปรีชา จารุวงศ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share