คำวินิจฉัยที่ 82/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครองและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ดังนั้น การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสหกรณ์ปศุสัตว์ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกของจำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินเป็นทุนประกอบอาชีพทางการเกษตรและเพื่อจัดซื้ออาหารสัตว์มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ของจำเลยที่ ๑ สัญญาดังกล่าวจึงมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำหรือเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จึงเป็นสัญญาทางปกครองด้วย และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๒/๒๕๕๗

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดชัยภูมิ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชัยภูมิโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โจทก์ ยื่นฟ้องสหกรณ์ปศุสัตว์ชัยภูมิ จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๖ คน จำเลย ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๓๕๙/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ผบ. ๑๒๘๔/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่ง เลิกสหกรณ์จำเลยที่ ๑ และแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ ๔ เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ ๕ เป็นรองประธานกรรมการ จำเลยที่ ๖ เป็นเหรัญญิก จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ เป็นกรรมการ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๓ เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๖ เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมศักดิ์ ศรีคำภา ผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ โดยเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากโจทก์เป็นเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเงินเป็นทุนประกอบอาชีพทางการเกษตร ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๓ และเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากโจทก์เป็นเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดซื้ออาหารสัตว์ (สุกร) มาจำหน่าย ตามสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๔๔ ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับกำหนดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๔ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับเงินกู้ กำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดแลโจทก์บอกเลิกสัญญาจะต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินกู้ตามสัญญาทั้งสองฉบับไปถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๓ ให้โจทก์เพียงบางส่วน ส่วนสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๔๔ ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ตกลงยินยอมจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี ตามยอดเงินกู้ยืมทุกขั้นตอนที่เป็นหนี้ ให้เริ่มคิดตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จนถึงวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ ๑ ครบถ้วนถูกต้อง จากนั้นจำเลยที่ ๑ และโจทก์ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในส่วนของต้นเงินค้างชำระดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระ ตามสัญญากู้ยืมเงิน เลขที่ ๑/๒๕๔๓ และเลขที่ ๓/๒๕๔๔ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากโจทก์ สัญญาเลขที่ พ.๑/๒๕๔๗ และเลขที่ พ.๒/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗ โดยมีจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๓ นางสาวทองติ๋ว เกิดผล และนายสมศักดิ์ ศรีคำภา เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับกำหนดว่า โจทก์ได้ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ และหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระให้กับจำเลยที่ ๑ โดยตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี ของยอดเงินกู้ และตกลงการผ่อนชำระดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ โดยกำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ จำนวน ๒,๕๐๐ บาท หลังจากนั้นมิได้ชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญาทั้งสองฉบับ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยทั้งสิบหกเพิกเฉย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๒,๔๒๖,๗๐๗.๙๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๒๙๙,๔๓๓.๐๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๖ ที่ ๑๒ และที่ ๑๓ ให้การโดยสรุปว่า ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อในฐานะพยานเท่านั้น สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ ที่ ๑๑ และที่ ๑๖ ให้การโดยสรุปว่า จำเลยที่ ๑ มีหนี้ตามฟ้องก่อนที่จำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ จะเข้ามาเป็นกรรมการ การกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิก จำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ต่อมาโจทก์มีคำสั่งเลิกสหกรณ์จำเลยที่ ๑ และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีมาดูแลบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ ไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ชำระบัญชีกระทำการโดยสุจริตหรือไม่ และการชำระหนี้ จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ถูกต้องเพียงใด จำนวนยอดหนี้โจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจยืนยันโดยถูกต้องได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ส่วนจำเลยที่ ๑๖ ให้การว่า คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๓ ให้การว่า คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำสั่งเลิกสหกรณ์จำเลยที่ ๑ และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตามฟ้อง เป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชัยภูมิพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่จำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ กล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน และคู่สัญญาตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดการชำระหนี้ สาระสำคัญของสัญญาจึงยังคงเป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๓ นางสาวทองติ๋ว เกิดผล และนายสมศักดิ์ ศรีคำภา ตกลงค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสิบหกชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกันประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า จำเลยทั้งสิบหกต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ส่วนคำสั่งเลิกสหกรณ์จำเลยที่ ๑ และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำสัญญาดังกล่าวตามฟ้อง ไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของสัญญาและไม่ทำให้เนื้อหาของสัญญาเปลี่ยนแปลงไป หากจำเลยที่ ๗ และที่ ๑๑ เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตรที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงิน กพส. ตามสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เลขที่ ๑/๒๕๔๓ เพื่อนำไปให้สมาชิกของจำเลยที่ ๑ กู้ยืมเป็นทุนประกอบอาชีพทางเกษตร และตามสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เลขที่ ๓/๒๕๔๔ เพื่อนำไปจัดซื้ออาหารสัตว์ (สุกร) มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกของจำเลยที่ ๑ การทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นวิธีการหรือมาตรการอย่างหนึ่งที่โจทก์ได้กระทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ อันเป็นภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ กพส. และยังมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตรจัดหาเงินกู้ให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพทางการเกษตรและจัดหาวัสดุการเกษตรมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญากู้ยืมเงิน กพส. ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงมีคู่ความฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะและเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดแสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง แม้ต่อมาจำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ผิดสัญญาเงินกู้ยืมทั้งสองฉบับดังกล่าว และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยมีการจัดทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ รวม ๒ สัญญา คือ สัญญาเลขที่ พ.๑/๒๕๔๗ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนเงินต้นค้างชำระ และสัญญาเลขที่ พ.๒/๒๕๔๗ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระตามที่กำหนดในข้อ ๒ ของสัญญาทั้งสองฉบับ สัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เลขที่ พ.๑/๒๕๔๗ และเลขที่ พ.๒/๒๕๔๗ จึงเป็นสัญญาที่มีมูลหนี้เดิมมาจากสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เลขที่ ๑/๒๕๔๓ และเลขที่ ๓/๒๕๔๔ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองด้วย ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ ฉบับพิพาท และจำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๖ ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมศักดิ์ ศรีคำภา ผู้ค้ำประกัน เห็นว่า แม้หนังสือค้ำประกันดังกล่าว จะแยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ ฉบับพิพาทก็ตาม แต่หนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นสัญญาประธานและเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ชำระบัญชีสหกรณ์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ก็เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวพันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๖ จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครองและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและมีการเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์สู่ระดับสากล เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สำหรับกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นกองทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นในกรมของโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนส่งเสริมกิจการของสหกรณ์ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่โจทก์ได้ตกลงกันทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสหกรณ์ปศุสัตว์ ให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเงินเป็นทุนประกอบอาชีพทางการเกษตรและเพื่อจัดซื้ออาหารสัตว์มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ของจำเลยที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นองค์กรเกษตรจัดหาเงินกู้ หรือสินเชื่อให้แก่สมาชิกของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเกษตรกร กู้ยืมไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพทางการเกษตร และจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ อันมีลักษณะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำหรือเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นสัญญาที่มีมูลหนี้เดิมมาจากสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองด้วย และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ โจทก์ สหกรณ์ปศุสัตว์ชัยภูมิ จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๖ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share