คำวินิจฉัยที่ 8/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปถมใส่ที่ดินซึ่งอยู่ติดกันโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นลำรางสาธารณะ ทำให้เนื้อที่ขาดหายไป ขอให้บังคับจำเลยถมที่ดินให้มีเนื้อที่เท่าเดิม ย้ายเสาไฟฟ้า ประปา ออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเดิม จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นคลองเดิมอยู่แล้ว และประชาชนใช้ประโยชน์ ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๘

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ นางบุณยวีร์ ปรีชาวัฒนพัฒน์หรือนางอิศราภรณ์ ปรีชา โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหอมศีล จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๔๐/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๗๒ ตำบลบางเกลือ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๓๓ ตารางวา เมื่อปี ๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ จำเลยขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปถมใส่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๙๔ ซึ่งอยู่ติดกัน โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นลำรางสาธารณะ และต่อมาปี ๒๕๕๒ ก็ยังมีการขุดลอกที่ดินของโจทก์ ทำให้เนื้อที่ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา และโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยถมที่ดินของโจทก์ให้มีเนื้อที่เท่าเดิม ย้ายเสาไฟฟ้า ประปา ออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเดิม หากไม่ดำเนินการให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยขุดลอกมีสภาพเป็นคลองเดิมอยู่แล้วไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี และประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการสัญจรและใช้น้ำเพื่อเกษตรอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ คดีขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ตามมาตรา ๖๗ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาคลองสาธารณะตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยเข้ามาขุดดินในที่ดินของโจทก์และได้ทำการปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปารุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งแม้ในกรณีจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ศาลปกครองก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยกรณีดังกล่าวได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนด จำเลยขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปถมใส่ที่ดินซึ่งอยู่ติดกันโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นลำรางสาธารณะ และต่อมาปี ๒๕๕๒ ก็ยังมีการขุดลอกที่ดินของโจทก์ ทำให้เนื้อที่ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา ขอให้บังคับจำเลย ถมที่ดินของโจทก์ให้มีเนื้อที่เท่าเดิม ย้ายเสาไฟฟ้า ประปา ออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืน ในสภาพเดิม หากไม่ดำเนินการให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยขุดลอกมีสภาพเป็นคลองเดิมอยู่แล้วไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี และประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการสัญจรและใช้น้ำเพื่อเกษตรอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจ ตามกฎหมายและเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางบุณยวีร์ ปรีชาวัฒนพัฒน์หรือนางอิศราภรณ์ ปรีชา โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลหอมศีล จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share