คำวินิจฉัยที่ 76/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องนายอำเภออุทุมพรพิสัย จำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์และบิดามารดาของโจทก์ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๕๖ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๖๑ ตารางวา ต่อเนื่องมากว่า ๖๐ ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ในวันทำการรังวัด ผู้แทนของจำเลยคัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำที่สาธารณ ประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกบางส่วน เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๙๓ ตารางวา และจำเลยได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ สำหรับกักเก็บน้ำจากฮ่องสำโรงเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคภายในหมู่บ้านซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ว่างเปล่าที่ราษฎรในหมู่บ้านกันไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เป็นเหตุให้การขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต้องหยุดชะงักลงและทำให้โจทก์ไม่ได้รับโฉนที่ดินเต็มตามจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายของจำเลย จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างการครอบครองทั้งหมด มีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๖๘ ตารางวา ซึ่งมากกว่าเนื้อที่ที่ระบุไว้ใน น.ส. ๓ ของโจทก์ ถึง ๓ งาน ๗ ตารางวา ที่ดินพิพาทปรากฏทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้สัญจรมาจนถึงปัจจุบัน ที่พิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่จำเลยคัดค้านการรังวัดเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอรังวัดที่ดินของตนเพื่อการออกโฉนดที่ดิน การคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยจึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งจะเข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๕๖ ส่วนจำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share