คำวินิจฉัยที่ 70/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง โจทก์ หน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นเอกชน อ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ทำสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่นกับโจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระอากรรังนกตามสัญญาดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ผิดนัดชำระเงินค่าอากรรังนกอีแอ่น คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังจึงมีมติให้ยกเลิกสัมปทาน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าอากรที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมาตรา ๗ วรรคสอง บัญญัติว่า ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบในการจัดเก็บเงินอากรรังนก…” และมาตรา ๑๔ วรรคสอง บัญญัติว่า “การขอรับสัมปทานในแต่ละจังหวัดให้ทำโดยการประมูลเงินอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด” โดยในกรณีที่ผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดในสัมปทาน หรือชำระไม่ครบถ้วน มาตรา ๑๕ บัญญัติให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินอากรที่ต้องชำระ และวรรคสองของมาตราเดียวกัน บัญญัติว่า “เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเงินอากร” ดังนั้น ผู้ที่จะเก็บรังนกในพื้นที่ที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานด้วยการประมูลเงินอากรและจะต้องจ่ายเงินอากรให้แก่รัฐ หากผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนก็จะต้องเสียเงินเพิ่ม เงินอากรรังนกจึงเป็น “อากร” ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และการทำสัมปทานเป็นเพียงวิธีการในการให้ได้มาซึ่งเงินอากรของรัฐ เมื่อคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเงินอากรจากสัมปทานรังนกตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานและมีหน้าที่ต้องชำระอากรตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับการเพิกเฉยไม่ชำระอากรภายในเวลาที่กำหนดในสัมปทานหรือชำระไม่ครบถ้วน และโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกค่าอากรที่ค้างชำระ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรและเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา ๗ (๒) และ (๔) และเป็นข้อยกเว้นเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งค้ำประกันการชำระเงินอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. อันเป็นหนี้อุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรด้วยเช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share