คำวินิจฉัยที่ 69/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เดิม) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนาง น. ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ถูกฟ้องคดีในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้สมัครขอเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยไม่ได้ทำหนังสืออนุมัติให้ถูกต้อง จึงทำให้ไม่สามารถทำงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้เต็มเวลา ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกจากตำแหน่งและมีคำสั่งเลิกจ้าง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ การพัฒนาบุคลากร การตลาด การลงทุน กระบวนการผลิต และการให้บริการที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยการเสนอแนะมาตรการทางด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ต่อคณะรัฐมนตรี สนับสนุนการค้นคว้าวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และจัดให้มีกฎ ระเบียบ และมาตรการที่จำเป็นต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับซอฟต์แวร์ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีบริการแบบเบ็ดเสร็จ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ และการที่ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาจ้างผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อให้ปฏิบัติงานบริหารในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการของสำนักงานผู้ฟ้องคดี สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นสัญญาเพื่อจัดหาบุคคลมาปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ฟ้องคดีบรรลุผล มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share