คำวินิจฉัยที่ 67/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๗/๒๕๕๕

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นางสาวจตุพร วงษ์ชู ที่ ๑ นายกรัณย์พล เกษมงคล ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๖/๒๕๕๓ ความว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแล ก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมทางหลวงให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีและปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงนั้น ได้ทำการซ่อมแซม บำรุงทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ สายระหว่างอำเภอสีคิ้ว – ชัยภูมิ บริเวณกิโลเมตรที่ ๕๖ – ๕๗ ตำบลบ้านแปรง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยขุดลอกผิวถนนออกเป็นหลุมขนาดใหญ่เต็มผิวถนนของช่องจราจรลึกประมาณ ๓๐ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร โดยไม่ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณ ป้ายเตือน สัญญาณไฟ หรือ
อุปกรณ์ใด ๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้เห็นหรือรู้ได้ว่า
บริเวณนั้นมีการซ่อมแซมผิวถนน และมีการขุดผิวถนน หรือผิวถนนชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ เพื่อให้ ผู้ขับขี่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการขับรถผ่านบริเวณนั้นได้โดยปลอดภัย ทำให้โจทก์ที่ ๒ ขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คันหมายเลขทะเบียน ฌส ๔๕๕๑ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งมาด้วยกัน ตกลงไปในหลุมดังกล่าวแล้วกระเด็นพุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เสียหายทั้งคัน ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแล ก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมทางหลวงให้อยู่ในสภาพใช้การได้ และปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงที่เกิดเหตุ จำเลยทำการขุดลอกผิวถนนออกเป็นหลุมขนาดใหญ่ ลึกประมาณ ๓๐ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร โดยจำเลยไม่ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณ ป้ายเตือน สัญญาณไฟ หรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้เห็นหรือรู้ได้ว่า บริเวณนั้นมีการซ่อมแซมผิวถนน และมีการขุดผิวถนน หรือผิวถนนชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ ทำให้โจทก์ที่ ๒ ขับรถยนต์ตกลงไปในหลุมดังกล่าวแล้วกระเด็นพุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เสียหาย ซึ่งการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่ได้ตั้งป้ายสัญญาณ ป้ายเตือน สัญญาณไฟ หรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองและผู้ขับยานพาหนะที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้เห็นหรือรู้ได้ว่า บริเวณนั้นมีการซ่อมแซมผิวถนน และมีการขุดผิวถนน หรือผิวถนนชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่คดีที่พิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติรวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นจะต้องเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองเท่านั้น และโดยที่จำเลยเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา ๒๑ (๖) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดให้จำเลยมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายประการ ซึ่งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก และหมายความรวมถึงป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย และ “งานทาง” หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการจัดสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวงหรือการจราจรบนทางหลวง จึงเห็นว่า การติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนนเพื่อความปลอดภัยในการจราจรแก่ประชาชน ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวง จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงในการควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนนที่เกิดเหตุด้วย ดังนี้ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแล ก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมทางหลวงที่เกิดเหตุให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีและปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงนั้น ได้ทำการซ่อมแซมทางหลวงโดยขุดลอกผิวถนนออกเป็นหลุมขนาดใหญ่เต็มผิวถนนของช่องจราจร โดยจำเลยไม่ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณ ป้ายเตือน สัญญาณไฟหรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้รู้เห็นว่า บริเวณนั้นมีการซ่อมแซมผิวถนนและมีการขุดผิวถนนเป็นหลุมขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ ขับรถยนต์ตกหลุมที่จำเลยขุดดังกล่าว และโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงฟังได้ว่า มูลเหตุข้อพิพาทในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ดำเนินการควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนน หรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อป้องกันภัยอันตรายให้แก่โจทก์ทั้งสองและประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงนั้นสัญจรไปมา เป็นเหตุทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา ๒๑ (๖) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง และให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และโดยที่พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๙ บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่กำกับตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ประกอบมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามคำว่า “ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก และหมายความรวมถึงป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวง เพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย และกำหนดนิยามคำว่า “งานทาง” หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงในการควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนน เพื่อความปลอดภัยในการจราจรแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวง เมื่อเหตุแห่งการฟ้อง คดีนี้โจทก์อ้างว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแล ก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมทางหลวงให้อยู่ในสภาพใช้การได้ และปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงได้ขุดลอกผิวถนนที่เกิดเหตุออกเป็นหลุมขนาดใหญ่โดยไม่ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณ ป้ายเตือน สัญญาณไฟ หรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้เห็นหรือรู้ได้ว่า บริเวณนั้นมีการซ่อมแซมผิวถนน และมีการขุดผิวถนน หรือผิวถนนชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ ทำให้โจทก์ที่ ๒ ขับรถยนต์ตกลงไปในหลุมดังกล่าวแล้วกระเด็นพุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวจตุพร วงษ์ชู ที่ ๑ นายกรัณย์พล เกษมงคล ที่ ๒ โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

สำเนาถูกต้อง

(นายธนกร หมานบุตร) คมศิลล์ คัด/ทาน
นิติกรปฏิบัติการ

Share