คำวินิจฉัยที่ 60/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ได้ขอออกโฉนดที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๖๖ มีชื่อนาย ส. เป็นผู้แจ้งการครอบครอง แต่โจทก์ตรวจสอบพบว่า นาย ท. บิดาของจำเลยที่ ๒ ได้นำ ส.ค.๑ เลขที่ ๖๖ ไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๖๖ และแบ่งแยกออกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) และโฉนดที่ดิน การที่นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยจำเลยที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้กับบิดาของจำเลยที่ ๒ เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) และโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินที่โจทก์จะนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินคนละแปลงและคนละตำแหน่งกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องและไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๖ หรือไม่ ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ให้การทำนองเดียวกันว่า ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) พิพาท แต่ก็กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับกับที่ดินของนาย ส. ดังนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินที่นาย ส. มีสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๖๖ หรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินที่พิพาท ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย ส. หรือของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของเอกชนทั้งสองฝ่าย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นการขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของตน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share