คำวินิจฉัยที่ 51/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนร่วมกันนำที่ดินของตนรวมทั้งที่ดินมือเปล่าที่โจทก์ครอบครองอันเป็นส่วนหนึ่งในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันไปออกเป็นโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๑/๒๕๕๗

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ นางระเบียบ หรั่งสะอาดหรือหรั่งสอาด โจทก์ ยื่นฟ้อง นายปรีชา เอกบุตร ที่ ๑ บริษัทชะอำดีเวลลอปเม้นท์ คอเปอร์เรชั่น จำกัด ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๑/๒๕๕๖ ความว่า ประมาณปี ๒๕๑๖ โจทก์ครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ ๗ ไร่เศษ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๘๙๔ และ ๘๘๙๕ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต่อมาเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้นำที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รวมทั้งที่ดินดังกล่าวไปออกเป็นโฉนดเลขที่ ๖๒๘๑, ๘๘๙๓, ๘๘๙๔, ๘๘๙๕, ๑๘๓๘๒, ๑๘๐๓๖, ๑๘๔๔๙, ๑๘๔๕๔, ๑๘๔๕๕ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทับที่ของโจทก์ อันเป็นส่วนหนึ่งในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกัน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินมือเปล่าของโจทก์ และมีคำสั่งเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๒๘๑, ๘๘๙๓, ๘๘๙๔, ๘๘๙๕, ๑๘๓๘๒, ๑๘๐๓๖, ๑๘๔๔๙, ๑๘๔๕๔, ๑๘๔๕๕ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์อันกระทบสิทธิครอบครองของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นสำเนาเอกสารไม่อาจรับฟังได้ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๒๘๑, ๘๘๙๔, ๘๘๙๕ และแปลงอื่นๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และพวกบุกรุกที่ดินที่งอกจากโฉนดเลขที่ ๘๘๙๔ และ ๘๘๙๕ และได้ฟ้องขับไล่จากที่พิพาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๑๐๕๓๔/๒๕๕๑ ว่าที่ดินที่โจทก์และพวกบุกรุกเป็นที่งอกของจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้ยื่นฟ้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท คดีอยู่ระหว่างที่โจทก์ยื่นฎีกา จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงที่งอกจากโฉนดเลขที่ ๘๘๙๔ และ ๘๘๙๕ แต่ถูกผู้มีชื่อคัดค้านและยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๗๗๙/๒๕๕๕ ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างว่ามีแอ่งน้ำหรือทางน้ำจืดกั้นนั้น จำเลยที่ ๓ และเทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรีวินิจฉัยแล้วว่าไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ การออกโฉนดของจำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีของโจทก์ก็สืบเนื่องจากโจทก์อ้างว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๒๘๑, ๘๘๙๓, ๘๘๙๔, ๘๘๙๕, ๑๘๓๘๒, ๑๘๐๓๖, ๑๘๔๔๙, ๑๘๔๕๔, ๑๘๔๕๕ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ตรงกับความเป็นจริง และเป็นการออกโดยทับที่ของโจทก์ที่ครอบครองอันเป็นส่วนหนึ่งในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่โจทก์อ้างหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีพิพาทจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการรังวัดทำแผนที่ การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ ที่สาธารณประโยชน์ หมายถึงที่ดินที่ทางราชการได้จัดให้หรือสงวนไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสภาพแห่งพื้นที่นั้น หรือที่ดินที่ประชาชนได้ใช้หรือเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนไม่ว่าปัจจุบันจะยังใช้อยู่หรือเลิกใช้แล้วก็ตาม เช่น ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าช้าฝังและเผาศพ ห้วย หนอง ที่ชายตลิ่ง ทางหลวง ทะเลสาบ เป็นต้น ตามกฎหมายถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินซึ่งอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๗๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่ผู้ใดให้ได้กรรมสิทธิ์ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้จำเลยที่ ๓ เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดจำเลยที่ ๓ ว่ากระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และที่ ๓ ซึ่ง เป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์ครอบครองที่ดินมือเปล่าซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดที่พิพาทและต่อมาเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยทั้งสองได้นำที่ดินพิพาทไปออกเป็นโฉนดทับที่ของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินมือเปล่าและมีคำสั่งเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์อันกระทบสิทธิครอบครองของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า หนังสือแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นสำเนาเอกสารไม่อาจรับฟังได้ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และพวกบุกรุกที่ดินที่งอกจากโฉนดพิพาทและได้ฟ้องขับไล่จากที่พิพาทโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว โจทก์อ้างว่ามีแอ่งน้ำหรือทางน้ำจืดกั้นนั้นเทศบาลเมืองชะอำวินิจฉัยแล้วว่าไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทับที่ดินมือเปล่าของโจทก์อันเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางระเบียบ หรั่งสะอาดหรือหรั่งสอาด โจทก์ นายปรีชา เอกบุตร ที่ ๑ บริษัทชะอำดีเวลลอปเม้นท์ คอเปอร์เรชั่น จำกัด ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share