คำวินิจฉัยที่ 45/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนฟ้องเอกชนด้วยกันเป็นจำเลยที่ ๑ และหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. ๑ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ข. ให้แก่บิดาจำเลยที่ ๑ โดยรังวัดที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ข. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยที่ ๒ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๕/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดระนอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดระนองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๖ นางปี้ส้า อาจหาญ โจทก์ ยื่นฟ้องนายกฤษฎา ชูศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดระนอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๕/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยรับมอบการครอบครองจากนายอี อาจหาญ บิดา ซึ่งได้แจ้งการครอบครองเมื่อปี ๒๔๙๘ ประมาณ ๑๕ ไร่ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๑ โจทก์ยื่นคำขอรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน แต่ปรากฏว่า นายจรัญ ชูศรี บิดาจำเลยที่ ๑ ได้นำ ส.ค. ๑ ดังกล่าวไปขอออก น.ส. ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสมคบกับนายโหยบ อาจหาญ น้องชายโจทก์ ทำสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนของโจทก์ การทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนองหลงเชื่อว่าสัญญาซื้อขายที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงมีคำสั่งออก น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๔๓ ให้แก่นายจรัญ และเป็นการออก น.ส. ๓ ที่ดินแปลงอื่นมิใช่แปลงที่นายอีครอบครอง โดยรังวัดที่ดินที่โจทก์ครอบครอง แต่ไปออก น.ส. ๓ ในที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งมิได้แจ้ง ส.ค. ๑ ไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ ไปขอออกโฉนดที่ดินได้ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอน น.ส. ๓ ข เลขที่ ๔๓ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายอี อาจหาญ และโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรนายอี และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นของนายโหยบซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจรัญกับนายโหยบทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งได้ยื่นคำร้องขอออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๓ โดยชอบกฎหมาย น.ส. ๓ ข. ดังกล่าวจึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุใดๆ ที่จะยกเลิกเพิกถอน คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออก น.ส. ๓. ข. เลขที่ ๔๓ ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายแล้ว และที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับ ส.ค. ๑ ที่ผู้ขอเดิมแจ้งและครอบครองไว้ทุกประการ โดยผู้ขอมิได้นำเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินแปลงอื่นหรือนำรังวัดทับที่ดินซึ่งมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิของผู้อื่น ทั้งในการรังวัดเพื่อออก น.ส. ๓ ข. ดังกล่าว โจทก์มิได้คัดค้านแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดระนองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีโจทก์และจำเลยที่ ๑ โต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยให้ได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่า มีเหตุให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการรังวัดทำแผนที่การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ดินเพื่อให้บุคคลมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินและได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพตลอดจนการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ สำหรับการกระทำของจำเลยที่ ๒ อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจำเลยที่ ๒ ออกไปตามข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล โดยเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน เป็นเพียงข้อพิพาทประกอบและการวินิจฉัยและเยียวยาข้อพิพาทแต่เพียงในส่วนนี้ ย่อมไม่ครอบคลุมถึงการรับรองคุ้มครองสิทธิของคู่ความหรือคู่กรณี ซึ่งกระทำโดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ในเรื่องการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) และการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ โดยรับมอบการครอบครองจากนายอี อาจหาญ บิดา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ปรากฏว่านายจรัญ ชูศรี บิดาจำเลยที่ ๑ ได้นำ ส.ค. ๑ ดังกล่าว ไปขอออก น.ส. ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสมคบกับนายโหยบ อาจหาญ น้องชายโจทก์ ทำสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนของโจทก์ การทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงมีคำสั่งออก น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๔๓ ให้แก่นายจรัญ และเป็นการออก น.ส. ๓ ที่ดินแปลงอื่นมิใช่แปลงที่นายอีครอบครอง โดยรังวัดที่ดินที่โจทก์ครอบครอง แต่ไปออก น.ส. ๓ ในที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งมิได้แจ้ง ส.ค. ๑ ไว้ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ ไปขอออกโฉนดที่ดินได้ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอน น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๔๓ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายอีและโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นของนายโหยบ สัญญาซื้อขายที่ดินชอบด้วยกฎหมาย น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๔๓ ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออก น.ส. ๓. ข. เลขที่ ๔๓ ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญและในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๒ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางปี้ส้า อาจหาญ โจทก์ นายกฤษฎา ชูศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share