คำวินิจฉัยที่ 44/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนทั้งห้า ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๒ กระทรวงการคลัง ที่ ๓ มณฑลทหารบกที่ ๒๖ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๓ โดยครอบครองต่อมาจากบิดาและปู่ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นตัวแทนไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าว แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ชี้ตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งว่าทับซ้อนกับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร. ๓๒๓๙ ของกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้ในราชการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ และไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ให้รังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร. ๓๒๓๙ เห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องอ้างว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าโดยอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร. ๓๒๓๙ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุแห่งการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๓ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าครอบครองทำประโยชน์ เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ และมีคำขอหลัก คือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ให้รังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งแสดงให้เห็นความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ฟ้องคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลรับรองสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๓ ที่ครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดาและปู่ ซึ่งมีประเด็นพิพาทเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ แม้ผู้ฟ้องคดี ทั้งห้าจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร. ๓๒๓๙ มาด้วย ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือเป็นที่ดินของรัฐ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากบิดาและปู่ โดยบิดาได้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ อันเป็นเวลาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี ๒๔๙๗ ซึ่งมาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้การออกโฉนดที่ดินในกรณีดังกล่าว โดยใช้หลักฐานการแจ้งการครอบครอง เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะทำได้ต่อเมื่อมี คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลยุติธรรมว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share