คำวินิจฉัยที่ 44/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๕๓

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ที่ ๑ นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง ที่ ๑ อธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๔๑/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๓ เลขที่ดิน ๑๒๐ ตำบลปากเกร็ด (บ้านวัดบ่อ) อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๘๔ ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดิน ผลการรังวัดปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ก่อสร้างทางเท้าด้านทิศตะวันออกของถนนติวานนท์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖) ล่วงล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นระยะ ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร คิดเป็นเนื้อที่ ๗ ตารางวา สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ดได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยแนวเขตที่ดิน แต่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ด จึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แจ้งผลการไกล่เกลี่ยกรณีการคัดค้านการรังวัดและให้คู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีหนังสือให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขแนวเขตที่ดินดังกล่าวโดยด่วน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีหนังสือตอบกลับแจ้งว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่รื้อถอนทางเท้าออกไปจากที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ขับไล่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนทางเท้าพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองในสภาพที่เรียบร้อยดังเดิม หรือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการรื้อถอนทางเท้าพร้อมสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง หรือให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการใช้ที่ดินเนื้อที่ ๗ ตารางวา ราคาตารางวาละ ๘๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๕๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖ สายต่อทางของกรมโยธาธิการควบคุม-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๖ (บางพูน) ที่ห้าแยกปากเกร็ด พ.ศ. ๒๕๔๑ เนื้อที่ถูกเขตทางจำนวน ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ตามผลการรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีทั้งสองครบถ้วนแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการตามแบบก่อสร้างและรูปแบบของเขตทางหลวง นอกจากนี้จากการตรวจสอบก็พบว่า เขตทางหลวงและแนวก่อสร้างทางเท้าของโครงการฯ ก็ถูกต้องตามแนวเขตทางควบคุมของกรมทางหลวงแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ที่ดินที่เวนคืนได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองด้วย ทั้งนี้เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ และศาลยุติธรรมก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น สำหรับคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน ตามข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ตามมาตรา ๑๕ (๑) ประกอบกับมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น การก่อสร้างทางเท้าด้านทิศตะวันออกของถนนติวานนท์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการก่อสร้างทางเท้าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองทางเท้าในเขตทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ก่อสร้างทางเท้าด้านทิศตะวันออกของถนนติวานนท์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ประเด็นที่คู่ความโต้แย้งกันมีเพียงว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่ทับซ้อนกันดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรืออยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มาโดยการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดินที่ได้มาโดยการเวนคืนนั้น เป็นการยืนยันว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก่อสร้างทางเท้าในส่วนที่ตนมีสิทธิ ทั้งไม่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่กระทำการในที่ดินส่วนที่ไม่ใช่สิทธิของตนได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๕๑ มิใช่การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๓ เลขที่ดิน ๑๒๐ ตำบลปากเกร็ด (บ้านวัดบ่อ) อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๘๔ ตารางวา โดยต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ไปยื่นขอทำการรังวัดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ด ผลการรังวัดปรากฏว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกผู้ถูกฟ้องคดีล่วงล้ำเข้าไปสร้างทางเท้าภายในแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นระยะ ๑ เมตร ๕๐ เซนติเมตร คิดเป็นเนื้อที่ดินรวม ๗ ตารางวา โดยมิชอบ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ขับไล่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนทางเท้าพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองในสภาพที่เรียบร้อยดังเดิม หรือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนโดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง หรือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการใช้ที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖ สายต่อทางของกรมโยธาธิการควบคุม – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๖ (บางพูน) ที่ห้าแยกปากเกร็ด พ.ศ. ๒๕๔๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีทั้งสองครบถ้วนแล้ว ที่ดินที่เวนคืนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินที่สาธารณประโยชน์ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ที่ ๑ นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวง ที่ ๑ อธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ ติดราชการ
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share