แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๕/๒๕๕๓
วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ ร้อยตำรวจตรี สังวาลย์ เกิดแก่น ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๔/๒๕๕๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ เลขที่ดิน ๕๒๔๓ ตำบลตลาดบางเขน (บางเขน) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ติดตั้งตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์บนที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นทางเดินรถ กีดขวางทางเข้าออกหน้าที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีย้ายตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์ออกจากหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไข ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๑ และ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขอีก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไข ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้บังคับ
ผู้ถูกฟ้องคดีย้ายตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์ออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยด่วน
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ ตำบลตลาดบางเขน อำเภอบางเขต จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ ๓๘ ตารางวา แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงตกเป็นภาระจำยอมทางเดินรถของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๕ ที่ ๖๖๖๓ ฯลฯ รวม ๑๕๐ แปลง มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ซึ่งทางเดินรถดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้ถูกฟ้องคดีและ/หรือบุคคลอื่นที่เป็นผู้จัดสรรที่ดินบริเวณดังกล่าวได้จัดให้มีขึ้น การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในฟ้องว่าตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์พิพาทกีดขวางทางเข้าออกหน้าที่ดินของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ จึงเป็นความเท็จ ส่วนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๘ ซึ่งอยู่ติดกับทิศใต้ของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ ของผู้ฟ้องคดี มีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งแปลงให้บุตรสามคนของผู้ฟ้องคดีตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ และที่ดินแปลงดังกล่าวได้จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นทางเดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๕ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวยังมีสภาพเป็นที่ดินว่างเปล่า มีวัชพืชขึ้นปกคลุม การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าบุตรของผู้ฟ้องคดีจะปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๘ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างตู้ผ่านและปักเสาโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ลงบนไหล่ทางของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ โดยสุจริต และผู้ฟ้องคดีไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการก่อสร้างในที่ดินพิพาทมาก่อน ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ประกอบมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยก่อนดำเนินการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาอย่างรอบคอบและพยายามให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๘ น้อยที่สุด โดยตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์ไม่ได้กีดขวางทางเข้าออกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๙๖๒๘ ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงมิได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษจากการก่อสร้างตู้ผ่านและปักเสาโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ คดีขาดอายุความ ทั้งการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดีตามฟ้องแล้วผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๙๖๒๙ ทั้งแปลงเป็นทางสาธารณประโยชน์เนื่องจากประชาชนได้ใช้สัญจรทางเท้าและทางเดินรถไปมาผ่านเข้าออกไปสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว โดยไม่มีการหวงห้าม จึงเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป อันมีผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการติดตั้งตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการให้บริการโทรศัพท์ จึงเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการดำเนินการดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินหรือคดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทที่ใช้ติดตั้งตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์เป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งแปลงหรือเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แม้การพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับคดีสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง อาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า เดิมผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐบาลใช้ชื่อว่า “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน โดยมีอำนาจสิทธิขาดที่จะตั้งบำรุงและทำการโทรศัพท์ทุกชนิดภายในราชอาณาจักรไทยแต่เพียงผู้เดียว การดำเนินการกิจการโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเป็นบริการสาธารณะซึ่งอาจมีการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเพื่อให้บริการสาธารณะดังกล่าวบรรลุผล ต่อมาได้แปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภทเช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีติดตั้งตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์บนที่ดินของผู้ฟ้องคดี และกีดขวางทางเข้าออกที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีย้ายตู้ผ่านและเสาโทรศัพท์ออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ร้อยตำรวจตรี สังวาลย์ เกิดแก่น ผู้ฟ้องคดี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ ติดราชการ
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ