คำวินิจฉัยที่ 43/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส.ค. ๑ ซึ่งมารดาโจทก์ได้เคยกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ โดยตกลงมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๑ ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ประสงค์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอม ต่อมาทราบว่าจำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. ๔-๐๑ มีชื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค. ๑ ซึ่งตนเองทำกินต่างดอกเบี้ย แต่กลับไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ ๓ ทราบ การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. ๔-๐๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า มารดาโจทก์ไปกู้ยืมเงินบุคคลภายนอก โดยนำที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ย และมีปัญหาการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบุคคลภายนอก มารดาโจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน หลังจากชำระหนี้จำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ในปีเดียวกันจำเลยที่ ๓ ประกาศให้ที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินข้างเคียงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๓ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีคุณสมบัติครบถ้วน จึงดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยมารดาโจทก์ไม่เคยโต้แย้ง การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๓/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนางรอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนางรองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นายนา ผู้มีสัตย์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายแดง ดีสุด ที่ ๑ นางเจียว ดีสุด ที่ ๒ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนางรอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๗๖/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของนางสงกา ผู้มีสัตย์ มารดาซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ นางสงกากู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๑ ทำกินต่างดอกเบี้ย จากนั้น เมื่อต้นปี ๒๕๕๔ โจทก์ประสงค์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เพราะชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอมอ้างว่า โจทก์ยังคงค้างชำระหนี้ ต่อมาทราบว่าจำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ มีชื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มีเอกสารสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ซึ่งตนเองทำกินต่างดอกเบี้ย แต่กลับไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ ๓ ทราบ การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ ของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๖ นางสงกา ผู้มีสัตย์ มารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทพร้อมกับส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ ต่อมา นางสงกาไปกู้ยืมเงินบุคคลภายนอก โดยนำที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ย จากนั้นมีปัญหาการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบุคคลภายนอก นางสงกาจึงให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน หลังจากชำระหนี้จำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และในปีเดียวกัน จำเลยที่ ๓ ประกาศให้ที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินข้างเคียงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๓จึงออกสำรวจแนวเขตที่ดินพิพาท เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีคุณสมบัติครบถ้วน จึงดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยนางสงกาไม่เคยโต้แย้ง การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เนื่องจาก จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีอำนาจอนุญาตหรืออนุมัติให้จำเลยที่ ๒ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ตามฟ้องโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของนางสงกา ผู้มีสัตย์ มารดาซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ต่อมาจำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้ชำระค่าเสียหาย เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า นางสงกา มารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยา จากนั้นจำเลยที่ ๓ มีการประกาศให้ที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินข้างเคียงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและมีการออกสำรวจแนวเขตที่ดินพิพาทและตรวจสอบคุณสมบัติของจำเลยที่ ๒ เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน จึงดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยนางสงกาไม่เคยโต้แย้ง ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ออกสำรวจที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พบว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ จึงรังวัดแนวเขตและสอบสวนสิทธิไว้ ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประกาศผลการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินการปฏิบัติไปตามกฎหมายและระเบียบโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นคดีที่คู่ความโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ของโจทก์ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๓ ด้วยว่าเป็นผู้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลงอันเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งหรือกระทำการอื่นใดในทางปกครอง และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่การจะพิจารณาว่าหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๓ ออกให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นการออกทับที่ดินของโจทก์หรือไม่ จำเป็นจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทกันเสียก่อน โดยศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เมื่อพิจารณามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีจากคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของนางสงกา มารดา ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ต่อมาจำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ ภริยาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทกับให้ชำระค่าเสียหาย และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งหรือกระทำการอื่นใดในทางปกครอง และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์อ้างว่าหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ จึงไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และในอัตราเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาท และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ ของจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ ในการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวและสั่งให้ชดใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลยุติธรรมกำหนดคำบังคับดังกล่าวได้ และคดีมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า การดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น แม้คดีมีประเด็นต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งประเด็นเกี่ยวพันกันที่ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะพิจารณาในเนื้อหาคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงอาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวพันก่อนแล้วจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้เช่นเดียวกัน ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ ซึ่งมารดาโจทก์ได้เคยกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๑ ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ประสงค์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอมอ้างว่า โจทก์ยังค้างชำระหนี้ ต่อมาทราบว่าจำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ มีชื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปลง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มีเอกสารสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ซึ่งตนเองทำกินต่างดอกเบี้ย แต่กลับไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ ๓ ทราบ การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงเลขที่ ๒๕ ของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า มารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทพร้อมกับส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ ต่อมา มารดาโจทก์ไปกู้ยืมเงินบุคคลภายนอก โดยนำที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ย และมีปัญหาการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบุคคลภายนอก มารดาโจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน หลังจากชำระหนี้จำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ในปีเดียวกัน จำเลยที่ ๓ ประกาศให้ที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินข้างเคียงอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๓ จึงออกสำรวจแนวเขตที่ดินพิพาท เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีคุณสมบัติครบถ้วน จึงดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยมารดาโจทก์ไม่เคยโต้แย้ง การที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ดำเนินการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีอำนาจอนุมัติให้จำเลยที่ ๒ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ขอให้ยกฟ้อง อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนา ผู้มีสัตย์ โจทก์ นายแดง ดีสุด ที่ ๑ นางเจียว ดีสุด ที่ ๒ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share