คำวินิจฉัยที่ 39/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินบางส่วนตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๑ ได้รับความเสียหายกรณียื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้าน โดยอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุและเป็นคนละแปลงกับที่ราชพัสดุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งการระบุเนื้อที่ของที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ชัดเจนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่ราชพัสดุและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการกระทำของหน่วยงานทางปกครองเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายอนุศักดิ์ ฉัตรศุภกุล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๗/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินบางส่วนตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา โดยซื้อที่ดินมาจากนายเคน โคดรักษา เมื่อปี ๒๔๙๘ และครอบครองทำประโยชน์จนถึงปัจจุบัน ในปี ๒๕๕๕ ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในส่วนของผู้ฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้าน โดยอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส ๔๓๕ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งคำสั่งการสอบสวนเปรียบเทียบไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ พร้อมแจ้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ชัดเจน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดในคดีนี้ไม่ใช่ที่ราชพัสดุและเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่เป็นที่ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๘๑ ซึ่งแจ้งการครอบครองในปี ๒๔๙๘ เช่นเดียวกันกับเจ้าของที่ดินข้างเคียง ทั้งการรังวัดสอบเขตที่ดินและจัดทำแผนที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๐ ก็มีการระบุว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่นอกเขตที่ราชพัสดุ นอกจากนี้ การปรับปรุงทะเบียนที่ราชพัสดุในปี ๒๕๒๕ ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส ๔๓๕ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างในคดีนี้กลับมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่มีการจัดซื้อหรือบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น การระบุเนื้อที่ของที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวจึงมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การโดยสรุปว่า ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งไม่ออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้นำรังวัดทับที่ดินที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน กส ๔๓๕ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การโดยสรุปว่า การคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จากการตรวจสอบที่ดินที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนดไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๑ ตามที่กล่าวอ้าง แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๙๐ ของผู้มีชื่อ ซึ่งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน กส ๔๓๕ ด้วยเช่นกันและเป็นที่ดินที่เคยมีข้อพิพาทกับกระทรวงการคลัง ประกอบกับตำแหน่งที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๘๑ ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน กส ๔๓๕ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์จึงคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว การรังวัดตรวจสอบในการปรับปรุงทะเบียนราชพัสดุในปี ๒๕๒๕ เนื้อที่ของที่ดินอาจแตกต่างไปจากที่ดินตามที่ได้สงวนหวงห้ามขึ้นทะเบียนไว้เมื่อมี ๒๔๖๖ อันเนื่องมาจากมาตรฐานการรังวัดที่เดิมอาจไม่มีการตรวจสอบเนื้อที่มาก่อนและมีระยะเวลาห่างกันถึง ๕๙ ปี จึงอาจแตกต่างกันได้ แต่อาณาเขตที่ดินที่มีอยู่จริงก็ย่อมเป็นไปตามที่มีการครอบครองมาแต่เดิม ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลปกครอง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทและเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้เห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขายางตลาด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง และโต้แย้งการใช้อำนาจของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการปกครองดูแลที่ราชพัสดุตามกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ในการวินิจฉัยว่าการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหนังสือแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กล่าวอ้าง แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำร้องคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามศาลปกครองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินหรือห้ามนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น บทบัญญัติมาตรา ๗๑ (๔) ก็บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างและโต้แย้งกันสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินบางส่วนตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๑ ต่อมาได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้าน โดยอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส ๔๓๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วจึงมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดในคดีนี้ไม่ใช่ที่ราชพัสดุและเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งการระบุเนื้อที่ของที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการโดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ชัดเจน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างตามฟ้องเป็นไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่ราชพัสดุและได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการกระทำของหน่วยงานทางปกครองเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่ผู้ฟ้องคดีขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๘๑ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายอนุศักดิ์ ฉัตรศุภกุล ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share