คำวินิจฉัยที่ 39/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๔๗

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางเดือน พิมพ์พะนิตย์ กับพวก ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งต่อมา เรื่องดังกล่าวได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครองตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคดีของศาลปกครองกลางและศาลปกครองขอนแก่นตามลำดับ (คดีของศาลปกครองขอนแก่น หมายเลขดำที่ ๒๒๕/๒๕๔๕ ระหว่างนางเดือน พิมพ์พะนิตย์ ผู้ฟ้องคดี กับเทศบาลตำบลโนนบุรี ที่ ๑ นายอำเภอสหัสขันธ์ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ ๓ และสำนักงานธนารักษ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี) สรุปข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ว่า เดิมผู้ฟ้องคดีอาศัยอยู่ในเขตสุขาภิบาลโนนศิลาอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อทางราชการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนลำปาวในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ทำให้น้ำท่วมเขตสุขาภิบาลโนนศิลาทั้งหมดทางราชการจึงย้ายสถานที่ราชการและอพยพราษฎรไปอยู่บริเวณ “โคกภูสิงห์” (ปัจจุบันคืออำเภอสหัสขันธ์ ตำบลโนนบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์) ซึ่งเดิมเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามไว้สำหรับให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นที่เลี้ยงสัตว์โดยจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำปาวและจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรต่อมา ได้แบ่งพื้นที่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำปาวบางส่วนเพื่อย้ายอำเภอสหัสขันธ์เดิมไปตั้งเป็นสุขาภิบาลโนนบุรี (ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลโนนบุรี) ผู้ฟ้องคดีได้รับจัดสรรที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยในเขตสุขาภิบาลโนนบุรีขนาดแปลงที่ดินที่ได้รับจัดสรรกว้าง ๑๐.๕๐ เมตรยาว๒๕เมตร ใช้ปลูกบ้านแถวเรียงติดกันไป และในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ผู้ฟ้องคดีกับพวก ประมาณ ๑๐ ราย ได้ไปบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมิใช่เป็นที่สาธารณะห่างจากบริเวณที่ได้รับจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยประมาณ ๑๐๐ เมตร เพื่อปลูกพืชรายละประมาณ ๑-๓ งาน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทางราชการได้ประกาศให้ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและยังไม่มีเอกสารสิทธิไปขอจับจองที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีไปแจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกลับไม่ดำเนินการรังวัดให้โดยแจ้งว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และในปีพ.ศ.๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกการเช่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์และให้ผู้ฟ้องคดีออกไปจากที่ดินทั้งที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาและไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวอ้าง
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินโคกภูสิงห์ เมื่อมีการอพยพราษฎรออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมในการสร้างเขื่อนลำปาวทางราชการจึงจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำปาวในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และดำเนินการถอนสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินของที่ดินในส่วนดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยออกเป็นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่๑๔๕ ลงวันที่ ๑๐พฤษภาคม๒๕๑๕ ต่อมา ได้มีการออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๔๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ และพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๔๙ พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อให้กรมประชาสงเคราะห์จัดสร้างนิคมสร้างตนเอง และใช้เนื้อที่บางส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรและเป็นที่สร้างอำเภอสหัสขันธ์ต่อไป ซึ่งต่อมา ทางราชการได้ดำเนินการออกใบจองในที่ดินบางส่วนให้แก่ราษฎรที่ได้รับการจัดที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีก็ได้รับการจัดที่ดินในครั้งนี้แล้ว ต่อมา เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดทำโครงการจัดที่ดินโดยประกาศให้ราษฎรที่มีที่ดินเป็นของตนเองแต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิไปยื่นคำขอจับจอง(จ.ด. ๒) ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ไปยื่นความประสงค์ขอจับจองที่ดินด้วย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดสอบสวนสิทธิแล้วเห็นว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์เป็นที่ดินสุขาและถูกกันออกจากนิคมสร้างตนเองเพื่อจัดตั้งอำเภอสหัสขันธ์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถออกใบจองให้ผู้ฟ้องคดีได้ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ขอขึ้นทะเบียนบริเวณที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่กรมธนารักษ์คัดค้านว่าที่ดินในเขตแผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๔๙ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้กันที่ดินออกจากเขตนิคมสร้างตนเองเพื่อจัดตั้งอำเภอสหัสขันธ์ ที่ดินดังกล่าวทั้งหมดจึงมีฐานะเป็นที่ราชพัสดุ)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าวไม่ได้เนื่องจากบริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุและได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว โดยไม่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามนัยมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเป็นการถอนสภาพจากที่สาธารณประโยชน์เดิมเพื่อใช้สร้างเป็นศูนย์ราชการ ยังคงสภาพเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามนัยมาตรา ๑๓๐๔ (๓) กล่าวคือ เมื่อพิจารณาแผนที่ที่ดินพิพาทท้ายคำฟ้องและแผนที่ระวางที่ตั้งที่ราชพัสดุ พบว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวอ้างว่า ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ นั้น อยู่ในเขตที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนเลขที่ กส. ๙๖๘ ทั้งหมด ซึ่งในการจัดทำแผนที่ประกอบการขึ้นทะเบียนราชพัสดุในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และในการสำรวจผู้บุกรุกเข้าไปในที่ดินที่จัดตั้งเป็นอำเภอสหัสขันธ์และที่ราชพัสดุของจังหวัดกาฬสินธุ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ไม่ปรากฏการเข้าถือครองยึดถือใช้ประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีในที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีการคัดค้านของผู้ฟ้องคดีในการขึ้นทะเบียนราชพัสดุแปลงนี้ อนึ่ง ปัญหาที่ดินแปลงที่ตั้งอำเภอสหัสขันธ์ได้มีปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ราษฎรผู้ครอบครองบางส่วนได้นำที่ดินไปออก น.ส. ๓ ก. ใบจอง จากหน่วยราชการอื่นซึ่งมิใช่หน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็ยังมีข้อพิพาทกับสุขาภิบาลโนนบุรี (เทศบาลตำบลโนนบุรี) ซึ่งอ้างสิทธิการใช้ประโยชน์เช่นกันและยังนำที่ดินไปให้ราษฎรเช่าที่ดินด้วย ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาการเช่าที่ดินสุขาภิบาลโนนบุรีขึ้น ผลการพิจารณาได้ข้อยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ และปัจจุบันนี้ สุขาภิบาลโนนบุรี (เทศบาลตำบลโนนบุรี) ยอมรับว่าที่ดินพิพาทนี้เป็นที่ราชพัสดุ โดยได้มีการยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินในบริเวณที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนเลขที่ กส. ๙๖๘ เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะกับกรมธนารักษ์แล้ว รวมทั้งราษฎรผู้เคยทำสัญญาเช่าที่ดินกับสุขาภิบาลโนนบุรี (เทศบาลตำบลโนนบุรี) ได้ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์และได้ยื่นคำขอเช่าที่ดินกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผ่านทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ในที่บริเวณรอบนอกที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวโดยเช่ากับสุขาภิบาลโนนบุรี(เทศบาลตำบลโนนบุรี) ดังกล่าวมาแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำให้การและคำร้องในฉบับเดียวกันโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าผู้ฟ้องคดีอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การโต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุและได้มีการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ดีกว่ากัน กรณีนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือมาตรา ๖๐แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดีทำความเห็นว่า คดีนี้โอนมาจากเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องร้องทุกข์รับที่ ๕๒๖/๒๕๓๙ โดยโอนมาเป็นคดีปกครองของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๔๙/๒๕๔๕ ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมา เมื่อศาลปกครองขอนแก่นเปิดทำการจึงได้มีการโอนคดีนี้มายังศาลปกครองขอนแก่นตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่๓ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองขอนแก่นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเหตุแห่งข้อพิพาททั้งปวงนี้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทำความเห็นสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในคดีนี้ ซึ่งหน่วยราชการคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้โต้แย้งคัดค้านว่าเป็นที่ราชพัสดุและได้มีการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ดีกว่ากัน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะต้องดำเนินการออกเอกสารสิทธิจดทะเบียนที่ดินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๙ กรณีนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตามนัยมาตรา ๑๓๐๔ (๑)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่า
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับกันว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประกาศให้ผู้ครอบครองที่ดินแต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิไปแจ้งการครอบครองเพื่อขอออกเอกสารสิทธิที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้ไปยื่นคำขอจับจอง (จ.ด. ๒) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิเสธการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากพิจารณาสถานะทางกฎหมายของที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือมิฉะนั้นก็เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะซึ่งเป็นที่ราชพัสดุโดยพิจารณาจากแผนผังโครงการจัดที่ดินได้เขียนไว้ว่าเป็นที่ดินสุขา และวินิจฉัยข้อกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๔๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่า ได้มีการกันเนื้อที่ประมาณ ๔,๑๐๐ไร่ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔๙ เพื่อมอบให้กรมการปกครองนำไปจัดตั้งอำเภอสหัสขันธ์ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือมิฉะนั้นก็เป็นที่ราชพัสดุ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เห็นว่า เหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดว่าได้มีการกันที่ดินดังกล่าวออกจากที่ดินของนิคมสร้างตนเองเพื่อนำไปจัดตั้งอำเภอสหัสขันธ์ ที่ดินทั้ง ๔,๑๐๐ ไร่ จึงเป็นที่ราชพัสดุประเด็นพิพาทในคดีนี้ที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาคือ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งปฏิเสธการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยอ้างเหตุผลข้อกฎหมายว่าที่ดินเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ดี หรือเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในความดูแลรักษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็ดี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้จึงมิใช่กรณีที่ต้องพิจารณาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองหรือสิทธิในการครอบครองทำประโยชน์ของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ศาลจะพิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ปฏิเสธการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีว่า มีการให้เหตุผลอย่างถูกต้องโดยการปรับใช้กฎหมายได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ในการตราพระราชกฤษฎีกาให้กันที่ดินออกจากเขตนิคมสร้างตนเอง จำนวนเนื้อที่ ๔,๑๐๐ ไร่ เพื่อนำไปจัดตั้งอำเภอสหัสขันธ์นั้น มีความหมายว่าให้นำไปจัดตั้ง “ที่ว่าการอำเภอ” ตามความเข้าใจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ หรือหมายถึงอำเภอที่ประกอบไปด้วยสถานที่ราชการตลาด ชุมชนของราษฎร วัด ฯลฯ ตามความเข้าใจของผู้ฟ้องคดี จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เห็นว่า กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังกล่าวเกิดจากการพิจารณาวินิจฉัยและการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้กับผู้ฟ้องคดีเนื่องจากการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์เป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ดังนั้น สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับคดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะถูกโต้แย้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นการกระทำทางปกครองก็ตาม แต่ประเด็นหลักที่คู่ความโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นของสาธารณประโยชน์หรือที่ราชพัสดุ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดีต่อไป ซึ่งการพิจารณาคดีที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
(๒) …”
การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทในคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษอยู่ด้วย กล่าวคือ ต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหลัก ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงได้แก่ศาลยุติธรรมคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมคือศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓/๒๕๔๕, ๕/๒๕๔๕, ๒๘/๒๕๔๕, ๒๙/๒๕๔๕ และ ๓๑/๒๕๔๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ผู้ฟ้องคดีกับพวกซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยในเขตสุขาภิบาลโนนบุรีเข้าไปบุกเบิกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าและมิใช่ที่สาธารณะห่างจากบริเวณที่ได้รับจัดสรรทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร เนื้อที่ประมาณรายละ ๑-๓ งาน โดยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ผู้ฟ้องคดีไปแจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตามประกาศของทางราชการ แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกลับไม่ดำเนินการรังวัดให้ผู้ฟ้องคดีโดยแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑จึงขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้มีสถานะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑หรือมิฉะนั้นก็เป็นที่ราชพัสดุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินนี้เป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ระหว่าง นางเดือน พิมพ์พะนิตย์ ผู้ฟ้องคดีเทศบาลตำบลโนนบุรี ที่ ๑ นายอำเภอสหัสขันธ์ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่๓และสำนักงานธนารักษ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share