แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๔๘
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ บริษัทผลิตภัณฑ์ยาเส้นไทย (มวนเอง) จำกัด ที่ ๑ นายอภินันท์ ยกยิ่ง ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมสรรพสามิต ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๔/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาเส้นไทย (มวนเอง) ทำสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายยาเส้น เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ เจ้าพนักงานสรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลกเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ไปติดต่อขอซื้อยาเส้นมวนเองจากนายมานะ ทองนก อดีตลูกจ้างของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ นายมานะได้พาไปติดต่อนางรุ่งลาวัลย์ เจริญสุข ลูกจ้างของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าโกดังเก็บสินค้าแล้วแสดงตัวจับบุคคลทั้งสองพร้อมทั้งตรวจค้นโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ยึดยาเส้น จำนวน ๗,๒๘๘ ซอง ยึดแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้ว จำนวน ๑๘,๕๗๕ ดวง เป็นของกลาง โดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันขายและมีไว้เพื่อขายยาเส้นที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้ว แล้วนำตัวบุคคลทั้งสองพร้อมของกลางไปกักขังไว้ที่ทำการสรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลก ต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไปตกลงเกี่ยวกับการจับกุมตามข้อหาข้างต้นแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีได้แสดงใบอนุญาตประกอบการให้ทราบแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีไม่รับฟังและไม่หยุดกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กลับส่งผู้ต้องหาทั้งสองพร้อมของกลางให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลก และเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน ๕ คน ได้ออกตรวจพื้นที่ตลาดบึงพระ ทำการยึดยาเส้นไทยมวนเองของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่วางขายอยู่ทั้งหมด โดยสั่งห้ามผู้ที่วางขายไม่ให้รับมาวางขายอีก หากขัดขืนจะจับกุมดำเนินคดีทางอาญา พร้อมทั้งได้สั่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบึงพระประกาศทางวิทยุท้องถิ่น ห้ามมิให้ผู้ใดวางขายยาเส้นของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ผู้ที่รับยาเส้นมวนเองของผู้ฟ้องคดีส่งคืนยาเส้นที่รับไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาพนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีมีมูลเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาสี่รายที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการพิจารณาสั่งฟ้อง พนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงขอคืนของกลางที่ถูกยึดไปทั้งหมดและผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลกอนุญาตให้คืนตามคำขอ แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมคืน ผู้ฟ้องคดีทราบว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ตัดมุมซองยาเส้นทุกซองทำให้อากาศเข้าซองยาเส้นที่บรรจุในซองเสียหายทั้งหมด การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดจงใจกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองให้ได้รับ ความเสียหาย โดยเอาตำแหน่งบังหน้าและอ้างว่ากระทำตามหน้าที่ โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหายจากการสูญเสียยาเส้นบรรจุซองที่ถูกยึดไปเป็นของกลางและไม่ได้คืน จำนวน ๗,๒๘๘ ซอง ราคาซองละ ๕ บาท เป็นเงินจำนวน ๓๖,๔๔๐ บาท ขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายยาเส้นไทย (มวนเอง) ซึ่งเคยได้รับจากผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑๒ เดือน เป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท และค้างชำระเงินกู้ที่กู้จากธนาคารจำนวน ๘๗๙,๙๔๘ บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑,๑๕๖,๓๘๘ บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้จากการผลิตและบรรจุซองยาเส้น ซองละ ๐.๓๐ บาท และจากการเป็นนายหน้าจำหน่ายยาเส้นในอัตราร้อยละ ๙ ของเงินที่ขายได้ เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับจากวันละเมิด จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ของผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน ๑,๒๗๖,๓๘๘ บาท แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรียกค่าเสียหายเพียง ๑,๐๑๖,๓๘๘ บาท โดยเป็นค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๙๑๖,๓๘๘ บาท และของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๙๑๖,๓๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า คดีขาดอายุความ การจับกุมและการยึดของกลางได้กระทำตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีสืบสวนทราบว่ามีการลักลอบทำและขายยาเส้นปรุงเอง จึงได้ทำการล่อซื้อและจับกุม การตรวจพิสูจน์ของกลางได้กระทำตามระเบียบกรมสรรพสามิต ว่าด้วยการพิสูจน์ของกลาง พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ของกลางดังกล่าวได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดี จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด การดำเนินการของเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีตั้งแต่การจับกุมและตรวจค้น ตลอดจนการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สุจริต และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีสืบสวนทราบว่ามีการลักลอบทำและขายยาเส้นปรุง อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายยาสูบ ต่อมาดำเนินการล่อซื้อได้จากลูกจ้างของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงแสดงตัวจับกุม พร้อมเข้าตรวจค้นโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และยึดยาเส้นบรรจุซอง แสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไปเป็นของกลางดำเนินคดี โดยส่งผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ส่วนของกลางเก็บรักษาไว้แทนพนักงานสอบสวนที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลก พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้ว เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาสี่รายที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่พนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่จับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายแล้ว ถือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามมาตรา ๒ (๑๖) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการสืบสวน จับกุมผู้ต้องหา เข้าตรวจค้นโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รวมทั้งการยึดยาเส้นบรรจุซองและแสตมป์ที่ใช้แล้วของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไปเป็นของกลาง ถือเป็นกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบ เพื่อนำไปสู่การลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีเข้าจับกุมดำเนินคดีอาญาทำให้ขาดรายได้ในการดำเนินการผลิตยาเส้นและจำหน่ายยาเส้น ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ยังได้เรียกค่าเสียหายจากการสูญเสียยาเส้นบรรจุซองซึ่งเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีได้ยึดเป็นของกลางในการดำเนินคดี กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีอันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา มิใช่คดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า สาระสำคัญตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แม้จะเป็นการเริ่มต้นเกี่ยวกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อาศัยอำนาจตามตามตรา ๔๐ และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามมาตรา ๒ (๑๖) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าว ก็เป็นไปเพื่อมุ่งหมายตามขั้นตอนของกฎหมายที่นำไปสู่การลงโทษทางอาญาโดยตรงเท่านั้น มิได้หมายความว่าหากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพิเศษหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วจะไม่ถูกควบคุมตรวจสอบการกระทำจากศาลปกครองได้ และในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าวอาจมีการกระทำทางปกครองรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถแยกออกจากการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างตามคำฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้งโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และอ้างการกระทำตามหน้าที่ให้ผู้ฟ้องคดี ทั้งสองได้รับความเสียหาย ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามกฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนือหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า เจ้าพนักงานสรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลกสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทำการสืบสวน จับกุมลูกจ้างและอดีตลูกจ้างของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ค้นโดยยึดยาเส้นบรรจุซองและแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไปเป็นของกลางแล้วส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาสี่รายที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการผลิตและจำหน่ายยาเส้น และผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต้องสูญเสียยาเส้นบรรจุซองที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางอันเนื่องมาจากการพิสูจน์ของกลางของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การสืบสวน จับกุม ค้น ยึดและพิสูจน์ของกลางของเจ้าพนักงานกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาสูบ ไม่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานกรมสรรพสามิตตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีอำนาจหน้าที่จับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว อันเป็นความผิดอาญา เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามมาตรา ๒ (๑๖) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเมื่อได้ทำการสืบสวน จับกุมผู้กระทำผิด ค้น ยึดและพิสูจน์ของกลางโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๙๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และระเบียบกรมสรรพสามิต ว่าด้วยการพิสูจน์ของกลาง พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดอาญาเกี่ยวกับกฎหมายยาสูบ จึงเป็นการดำเนินการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของ ศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นการเฉพาะโดยตรง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง บริษัทผลิตภัณฑ์ยาเส้นไทย (มวนเอง) จำกัด ที่ ๑ นายอภินันท์ ยกยิ่ง ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กรมสรรพสามิต ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) นายวิชัย วิวิตเสวี
(นายศุภชัย ภู่งาม) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน