คำวินิจฉัยที่ 31/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๔๘

วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ บริษัท ยู.ที.เอ็ม.เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๘/๒๕๔๗ ขอให้เพิกถอนคำสั่งชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คัดค้าน จำนวน ๓,๑๙๑,๔๕๔.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันโดยมีเงื่อนไขว่าผู้ร้องต้องชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านก่อน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บริเวณคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑ หลัง ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๒๒๗/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ วงเงิน ๑๐๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ โดยมีหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร จำนวน ๑๐,๒๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องได้เข้าดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามงวดงานได้ อันเป็นผลมาจากผู้คัดค้านได้แก้ไขแบบก่อสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจหลายประการที่ผู้ร้องได้ก่อสร้างให้ผู้คัดค้าน ทำให้การก่อสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจล่าช้าออกไปกว่า ๒ ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้เงินค่างานไปชำระให้แก่ธนาคาร ธนาคารจึงไม่สนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ร้อง ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา คณะรัฐมนตรีได้มีมติแจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร.๐๒๐๕/ว ๗๐ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง โดยให้ขยายเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างได้ ๑๘๐ วัน นับแต่ระยะเวลาตามสัญญาเดิมสิ้นสุดลง ซึ่งผู้คัดค้านได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบการได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างได้ก็ล่วงเลยกำหนดตามสัญญาเดิมเหลือเวลาเพียง ๘๐ วันเท่านั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาได้ และเมื่อครบกำหนดผู้คัดค้านได้บอกเลิกสัญญา ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีแจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร.๐๒๐๕/ว ๑๙๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐ ผู้ร้องจึงมีหนังสือถึงผู้คัดค้านเพื่อขอความช่วยเหลือ ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่าได้อนุมัติให้นิรโทษกรรมและคืนหลักประกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการคัดเลือกผู้รับเหมารายใหม่ ผู้ร้องประสงค์จะเข้าทำงานต่อในราคาเดิม แต่ผู้คัดค้านได้เลือกผู้รับเหมารายใหม่โดยวิธีพิเศษให้เข้าดำเนินการก่อสร้างต่อในราคาก่อสร้างที่สูงกว่าเดิม โดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องเข้าทำงานต่อ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ซึ่งตามสัญญาจ้างมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๓ ผู้ร้องจึงยื่นข้อพิพาทตามสัญญาจ้างดังกล่าวต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (ปัจจุบันคือสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม) ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ๐๔/๓๙/๕๐๑๖๐ ฉบับลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๙ ให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการไม่คืนหนังสือค้ำประกัน ๒๖๗,๗๕๐ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ได้จ่ายเงินให้ผู้ร้องตามงวดงานที่แล้วเสร็จตามสัญญามาตลอด เมื่อผู้ร้องทิ้งงานผู้คัดค้านได้มีหนังสือให้ชี้แจงเหตุผล แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีให้ต่ออายุสัญญาจ้างก่อสร้าง ผู้ร้องได้เข้าทำงานก่อสร้างเพียงเล็กน้อยและหยุดการก่อสร้างอีก ผู้คัดค้านได้มีหนังสือเร่งรัด แต่ผู้ร้องยังคงเพิกเฉย และเมื่อรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้าง ผู้ร้องก็มิได้เข้าทำการก่อสร้าง ผู้คัดค้านจึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งริบหลักประกันตามสัญญา พร้อมแจ้งสงวนสิทธิให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากต้องจ้างเอกชนรายอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เป็นเงินจำนวน ๓,๑๙๑,๔๕๔.๕๔ บาท ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ ผู้ร้องได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพาท หมายเลขดำที่ ๕๔/๒๕๔๓ หมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๔๖ ชี้ขาดว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้คัดค้าน ไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการจากการไม่คืนหนังสือค้ำประกันสัญญาจ้าง ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านจำนวน ๓,๑๙๑,๔๕๔.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญาจ้างให้แก่ผู้ร้องเมื่อผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้คัดค้านครบถ้วนจนพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ผู้ร้องเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาทโดยยึดหลักเคร่งครัดเช่นเดียวกับหลักการขอวิธีพิจารณาความแพ่ง ถือว่าผิดหรือขัดต่อปรัชญาและเจตนารมณ์ของระบบอนุญาโตตุลาการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมศาลไม่ครบถ้วน ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เนื่องจากสัญญาจ้างก่อสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นสัญญาทางปกครอง ประกอบกับขณะมีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองยังไม่เปิดดำเนินการ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการใช้สิทธิขอให้ศาลแพ่งออกหมายเรียกพยานบุคคลหรือออกคำสั่งเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมาก่อน ศาลแพ่งมิเคยได้ใช้อำนาจเหนือข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทมาแต่เริ่มต้น กรณียังถือไม่ได้ว่าศาลแพ่งเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง และมูลคดีเกิดที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแพ่ง แม้คณะอนุญาโตตุลาการตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งก็ไม่มีเหตุทำให้มูลคดีกลับมาอยู่ในเขตอำนาจ ศาลแพ่ง การวินิจฉัยข้อพิพาทตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชอบแล้วไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเหตุผลตามคำคัดค้านข้างต้น
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ วางหลักเกณฑ์ให้สัญญาทางปกครองมีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการสาธารณสุขของประเทศ แต่สัญญาคดีนี้เป็นการจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์เชื่อว่าอาคารดังกล่าวมิได้ทำขึ้นเพื่อให้การบริการสาธารณะโดยประชาชนทั่วไปใช้บริการและมิใช่สิ่งสาธารณูปโภค สัญญาจ้างคดีนี้ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิใช่สัญญาทางปกครองแต่เป็นสัญญาทางแพ่ง พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๐ วรรคสอง บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และมาตรา ๙ บัญญัติให้ศาลที่มีการพิจารณา ชั้นอนุญาโตตุลการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้นเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีนี้เป็นสัญญาทางแพ่ง ดังนั้น การที่ผู้ร้องได้ยื่นข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด โดยยื่นต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งชอบแล้ว ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล ย่อมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจที่ผู้ร้องอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มาตรา ๔๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ มาตรา ๙ บัญญัติให้ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาล ที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มุ่งประสงค์ให้พิจารณาลักษณะเนื้อหาแห่งประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง โดยมิได้พิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการแยกออกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใด มีลักษณะเป็นคดีแพ่ง ศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ศาลยุติธรรม หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ศาลปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ เพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับแล้ว โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ทำให้คดีพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ขณะทำสัญญาจ้างผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๐ และเป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบริการสาธารณะให้การศึกษา ส่งเสริมการศึกษา และวิจัยที่เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของประเทศชาติ ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถในวิชาชีพและเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบริการสาธารณะให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล นักศึกษาแพทย์มีความจำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้จากผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานศึกษาหรือโรงพยาบาลของสถานศึกษา ซึ่งจะมีผู้ป่วยที่มารับการรักษาตลอดเวลาในแต่ละวัน การที่ผู้คัดค้านจัดหาที่พักให้แก่นักศึกษาแพทย์ซึ่งไม่มีที่พักหรือมีที่พักแต่อยู่ไกลจากสถานศึกษา เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีความสะดวกในการศึกษาเรียนรู้จากผู้ป่วยอันเป็นการสนับสนุนการให้การศึกษาของผู้คัดค้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์จึงจำเป็นต้องมีหอพักนักศึกษาแพทย์ หอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ซึ่งเป็นบริการสาธารณะดังกล่าวให้บรรลุผล นอกจากนั้น ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นผู้ให้บริการสาธารณะโดยการให้การศึกษา ส่วนนักศึกษาแพทย์เป็นผู้รับบริการสาธารณะ การที่ผู้คัดค้านจัดทำหอพักนักศึกษาแพทย์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์พักอาศัยใช้ประโยชน์ระหว่างเข้ารับบริการสาธารณะ หอพักนักศึกษาแพทย์จึงเป็นสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาจ้างให้ก่อสร้างหอพักดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวีธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น และเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ สำหรับกรณีผู้ร้องได้ยื่นข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดโดยยื่นต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม แต่การพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไม่ปรากฏว่ามีการขอให้ศาลแพ่งออกหมายเรียกพยานบุคคล หรือคำสั่งเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งจึงมิใช่ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปได้ว่า บริษัท ยู.ที.เอ็ม.เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ร้อง เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จำนวน ๑ หลัง โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คัดค้าน เป็นผู้ว่าจ้างในการทำสัญญาดังกล่าว ผู้ร้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปมอบให้แก่ผู้คัดค้านไว้เป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โดยมิใช่ความผิดของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน จากนั้นผู้ร้องยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ขอให้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าว ให้ชำระค่าเสียหายจากการไม่คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ย ต่อมา อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา และให้ชำระเงินแก่ผู้คัดค้านจำนวน ๓,๑๙๑,๔๕๔.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันสัญญาจ้างเมื่อผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วนจนพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านสรุปได้ว่า สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง และการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างให้ก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง โดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้บัญญัติไว้ว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คัดค้านมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมการศึกษา และวิจัยที่เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของประเทศชาติ ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถในวิชาชีพและเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำสัญญาว่าจ้างให้ผู้ร้องก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน ๑ หลัง จึงถือเป็นกิจการที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาดำเนินการเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแม้คดีนี้ผู้ร้องจะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๓ อันเป็นวันก่อนวันเปิดทำการของ ศาลปกครองก็ตาม (ศาลปกครองเปิดทำการวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔) แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการคู่สัญญาหรืออนุญาโตตุลาการได้มีการร้องขอให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจเหนือข้อขัดแย้งในคดีนี้มาก่อน ศาลยุติธรรมจึงมิใช่ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง บริษัท ยู.ที.เอ็ม.เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ร้อง มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายศุภชัย ภู่งาม) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share