คำวินิจฉัยที่ 29/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๔

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ นายมงคล สิมะโรจน์ โดยนายเกียรติพล วงษารัตน์ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมป่าไม้ ที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี ที่ ๒ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๓ (ชลบุรี) ที่ ๓ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๔ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙๒/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๓ โจทก์ซื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เลขที่ ๒๑๒, ๒๑๓ และ ๒๑๗ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่รวม ๑๕๙ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา จากนายโสภณ ดำนุ้ย นางจินดารัตน์ พิชะยะ นางบุปผา เข็มเจริญ นางแน่งน้อย พรหมสวัสดิ์ และนายวิชัย พงษ์พัฒนเจริญที่รับโอนมาจากผู้มีสิทธิครอบครองเดิม โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน ตาม ส.ค. ๑ ทั้งสามฉบับดังกล่าว ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา แจ้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ โจทก์จึงยื่นฟ้องนายโสภณ ดำนุ้ย กับพวกต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๑๒/๒๕๔๓ เรื่อง สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะและเรียกเงินค่าที่ดินคืน ต่อมาวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ศาลจังหวัดชลบุรีมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๒/๒๕๔๘ ว่า ที่ดินพิพาทน่าจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว -เขาชมภู่ แต่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเดิมครอบครองที่ดินและทำประโยชน์นับแต่ปี ๒๔๙๗ ถือว่าผู้มีสิทธิครอบครองบริเวณที่ดินพิพาทเข้าครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินที่อาจออกเอกสารสิทธิต่อทางราชการได้ หรือแม้ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินต่อทางราชการได้โจทก์คงเสียสิทธิในการที่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น โจทก์หาเสียสิทธิในสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนจากจำเลยทั้งห้าไปแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ขายจึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครอง เมื่อจำเลยทั้งห้าส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันทำสัญญาแล้ว ถือว่าจำเลยทั้งห้าสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์โดยการส่งมอบจำเลยทั้งห้ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ โจทก์จึงยื่นเรื่องรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน ตาม ส.ค. ๑ ทั้งสามฉบับดังกล่าวอีกครั้ง โจทก์ตรวจสอบพบว่าบริเวณที่ดินที่โจทก์ได้ยื่นเรื่องรังวัด ขอออกโฉนดที่ดินนั้น โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ไว้ไม่ครบโดยขาด ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๕ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โจทก์จึงยื่นเรื่องรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน ตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๕ เพิ่มอีกหนึ่งฉบับ ในวันทำการรังวัดจำเลยทั้งหกได้คัดค้านโดยอ้างว่า ที่ดิน ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ และเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาเขียว และที่ดินไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ ยังมีสภาพเป็นป่าไม้และไม่ใช่ที่ดิน ส.ค. ๑ ของบริเวณพื้นที่ที่ขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์เห็นว่า แม้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ แต่ผู้ครอบครองเดิมได้ทำประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ และทางราชการออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นการได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดินและครอบครองที่ดินก่อนวันที่ทางราชการจะกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ เมื่อปี ๒๕๑๗ โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินดังกล่าวมาจาก นายโสภณ กับพวก ที่รับโอนที่ดินมาจากผู้มีสิทธิครอบครองเดิมและได้มีการครอบครองที่ดินทำประโยชน์โดยปลูกมันสำปะหลังและกล้วยมาอย่างต่อเนื่อง โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กันที่ดินดังกล่าวออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ ห้ามจำเลยทั้งหกขัดขวางและหรือคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว และให้จำเลยที่ ๖ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฎิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจในการออกโฉนดเพียงแต่ให้ความเห็น การตรวจพิสูจน์ที่ดินที่ขอออกโฉนดตามคำสั่งจังหวัดชลบุรีในการขอออกโฉนด
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การในทำนองเดียวกันว่า คำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๓๑๒/๒๕๔๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๒/๒๕๔๘ ของศาลจังหวัดชลบุรี ระหว่าง นายมงคล สิมะโรจน์ โจทก์ กับนายโสภณ ดำนุ้ย ที่ ๑ กับพวก รวม ๕ คน จำเลย เรื่อง สัญญาขายที่ดิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว และคำพิพากษาดังกล่าวมิใช่ คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเขียว และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ ที่ดินไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ยังมีสภาพเป็นป่าไม้ และไม่ใช่ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.๑) ในบริเวณพื้นที่ที่ขอออกโฉนดที่ดิน การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ระวังชี้แนวเขตป่าไม้และคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์ยื่นขอออกโฉนดที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเขียวและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ ส่วนกรณีเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นจำเลยที่ ๖ มีคำสั่งยกเลิกคำขอที่ยื่นขอออกโฉนดที่ดิน คำสั่งยกเลิกคำขอดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของจำเลยทั้งหกที่ได้มีคำสั่งในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ และที่ดินไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ยังมีสภาพเป็นป่าเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรม จะต้องพิจารณาเขตอำนาจศาลของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ในการระวังชี้แนวเขตพื้นที่ป่าไม้กรณีมีผู้ขอออกโฉนดที่ดิน และคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ โดยการสั่งให้จำเลยทั้งห้าถือปฏิบัติต่อสิทธิครอบครองในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๒, ๒๑๓, ๒๑๕ และ ๒๑๗ ของโจทก์และสั่งให้จำเลยที่ ๖ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ได้ตาม มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคดีนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๒, ๒๑๓ และ ๒๑๗ ของโจทก์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ หรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การรับกันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว – เขาชมภู่
ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ หรือเป็นที่ที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและป้องกันการบุกรุกและทำลายป่าของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งคำสั่งของจำเลยที่ ๖ ที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เช่นกัน และแม้การพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตามแต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้จำเลยทั้งห้าถือปฏิบัติตามสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธินั้น ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับกรมป่าไม้ จำเลยที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี จำเลยที่ ๒ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๓ (ชลบุรี) จำเลยที่ ๓ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ ๔ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) จำเลยที่ ๕ และกรมที่ดิน จำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินที่พิพาทที่จะทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทว่าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากันข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่ของที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการก่อตั้งสิทธิขึ้นใหม่ อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งหกจะเป็นหน่วยงานทางปกครองแต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๒๑๒, ๒๑๓ และ ๒๑๗ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางพระอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่รวม ๑๕๙ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา จากนายโสภณ ดำนุ้ย กับพวก ที่รับโอนมาจากผู้มีสิทธิครอบครองเดิมและยื่นรังวัดขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสามฉบับดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ โจทก์จึงยื่นฟ้อง นายโสภณ กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรี เรื่อง สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะและเรียกเงินค่าที่ดินคืน ศาลมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๒/๒๕๔๘ ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทน่าจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว -เขาชมภู่ แต่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเดิมครอบครองที่ดินและทำประโยชน์นับแต่ปี ๒๔๙๗ ถือว่าผู้มีสิทธิครอบครองบริเวณที่ดินพิพาทเข้าครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินที่อาจออกเอกสารสิทธิต่อทางราชการได้ หรือแม้ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินต่อทางราชการได้โจทก์คงเสียสิทธิในการที่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น โจทก์หาเสียสิทธิในสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนจากจำเลยทั้งห้าไปแต่อย่างใด การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์โดยการส่งมอบ โจทก์จึงยื่นรังวัดขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสามฉบับดังกล่าวอีกครั้งพร้อมกับ ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๕ จำเลยทั้งหกคัดค้านอ้างว่าที่ดิน ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์มีสภาพเป็นป่าไม้และไม่ใช่ที่ดิน ส.ค. ๑ ของบริเวณพื้นที่ที่ขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์เห็นว่า แม้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ผู้ครอบครองเดิมได้ทำประโยชน์เรื่อยมาและทางราชการได้ออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นการได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดินและครอบครองที่ดินก่อนวันที่ทางราชการจะกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินดังกล่าวมาจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กันที่ดินดังกล่าวออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ ห้ามจำเลยทั้งหกขัดขวางและหรือคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสี่ฉบับดังกล่าว และให้จำเลยที่ ๖ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฎิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีของศาลจังหวัดชลบุรีหมายเลขแดงที่ ๔๘๒/๒๕๔๘ และคำพิพากษาดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเขียว และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ ที่ดินไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์มีสภาพเป็นป่าไม้และไม่ใช่ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ในบริเวณพื้นที่ที่ขอออกโฉนดที่ดิน การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ระวังชี้แนวเขตป่าไม้และคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ ส่วนกรณีจำเลยที่ ๖ มีคำสั่งยกเลิกคำขอที่ยื่นขอออกโฉนดที่ดินเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจในการออกโฉนดเพียงแต่ให้ความเห็นการตรวจพิสูจน์ที่ดินที่ขอออกโฉนดตามคำสั่งจังหวัดชลบุรี เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า โจทก์มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดได้หรือไม่ อันเป็นการขอให้รับรองสิทธิในที่ดิน แม้ที่ดินดังกล่าวอาจจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือไม่ก็ตาม แต่หากโจทก์ได้สวมสิทธิของผู้ครอบครองเดิม ที่ครอบครองมาก่อนวันที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับรองสิทธิดังกล่าว ทั้งประเด็นพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้แม้คู่ความจะมิใช่คู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๘๒/๒๕๔๘ ของศาลจังหวัดชลบุรีก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งศาลจังหวัดชลบุรีได้เคยวินิจฉัยไว้แล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายมงคล สิมะโรจน์ โดยนายเกียรติพล วงษารัตน์ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ กรมป่าไม้ ที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี ที่ ๒ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑๓ (ชลบุรี) ที่ ๓ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๔ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share