คำวินิจฉัยที่ 28/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ครูโรงเรียนเอกชนลูกจ้างฟ้องโรงเรียนเอกชนนายจ้างที่มีคำสั่งเลิกจ้าง ขอให้ชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหาย เป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม แม้ว่าตาม พรบ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้โรงเรียนเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็ตาม แต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้น ก็บัญญัติรับรองไว้ว่า ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นความในมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่งดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของบุคลากรทางการศึกษาเอาไว้เท่านั้น มิใช่กำหนดว่า สัญญาจ้างลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๘/๒๕๕๙

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลแรงงานภาค ๙

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ นางเพ็ญจันทร์ ดำโอ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการโรงเรียนดารุสสลามมูลนิธิ ที่ ๑ นายยาโกบ หมัดอาดัม ที่ ๒ โรงเรียนดารุสสลามมูลนิธิ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ. ๓๒/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้รับใบอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นครูในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากผิดวินัยในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากผู้ฟ้องคดีและครูอีก ๙ คน ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จ่ายเงินเดือนให้ครูไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และมีการระบุชื่อครูและนักเรียนในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มาสอนหรือมาเรียนในโรงเรียน และเมื่อได้ยื่นเรื่องร้องเรียนแล้วสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมิได้ดำเนินการใดให้ชัดเจน แต่กลับประสานโดยตรงกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต ๒ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต ๒ ได้แจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบเรื่อง จึงเลิกจ้างครูที่ร้องเรียนออกทั้งหมด ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่เลิกจ้างผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายของเงินเดือนที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ ค่าชดเชย และชดใช้ค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาทผู้ฟ้องคดี รวมเป็นเงิน ๓๕๗,๗๐๐ บาท รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้สอบสวนกรณีมีครูและนักเรียนที่ไม่มีตัวตนในโรงเรียน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นหน่วยงานทางเอกชนจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นสาธารณกุศลด้านการศึกษา โดยมีนิติสัมพันธ์กับผู้ฟ้องคดีในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา ๕๗๕ และมาตรา ๕๘๓ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามสามารถไล่ผู้ฟ้องคดีออกได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทำผิดกฎหมายอาญาฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม นำเอกสารไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตและใช้ตราประทับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยมิได้รับอนุญาต โดยการนำเอกสารไปใช้ในการยื่นขอกู้เงินจากธนาคารออมสิน สาขาเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และปฏิบัติผิดหลักการของศาสนาในเรื่องดอกเบี้ย อันก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงถอดถอนผู้ฟ้องคดีจากการเป็นครูตามมติของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนและมติของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงวินัยอย่างร้ายแรงที่แต่งตั้งโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ส่งเอกสารการถอดถอนผู้ฟ้องคดีให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต ๒ แล้ว ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ดำเนินการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน ตามมาตรา ๕๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็น “โรงเรียนในระบบ” อันเป็นสถานศึกษาของเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยที่การจัดการศึกษาเป็นภารกิจพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมจัดการศึกษา ตลอดจนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐให้ดำเนินกิจการดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง เฉพาะการกระทำที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างตำแหน่งอาจารย์ โดยผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าวและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากหน้าที่ครู เนื่องจากผิดวินัยในการปฏิบัติงาน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งถอดถอนออกจากหน้าที่ครูโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากหน้าที่ครู ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จ่ายเงินส่วนต่าง จ่ายค่าชดเชย ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีและค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนหรือฟ้องคดี เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นกรณีที่มีการพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าว มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์จ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครู เพื่อทำหน้าที่สอนนักเรียนในสถานศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ สัญญาจ้างดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรเพื่อเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา อันเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้บรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานภาค ๙ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเอกชน เพียงแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถานศึกษาเป็นโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ การเรียนการสอนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หามีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีในการใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐแต่ประการใด ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเพียงผู้ดำเนินธุรกิจทางการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดจ้างครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเป็นการจ้างแรงงานปกติตามสัญญาจ้างแรงงาน เพียงแต่การจ้างแรงงานมีบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมต่างหากโดยเฉพาะ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี มิใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้ว่าพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้กิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตามแต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้นก็บัญญัติรับรองไว้ว่า ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น ความในมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่งดังกล่าว จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน และประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบอาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนที่จะตก ได้แก่ ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าว มิใช่กรณีที่กฎหมายกำหนดว่า สัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำกับบุคคลใด อันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าชดเชย ค่าจ้าง และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกร้องกรณีผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ และระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๖๗/๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยที่ ๑๑๒/๒๕๕๗

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว โดยกำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นเป็นคดีประเภทหนึ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่าเดิมผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตำแหน่งอาจารย์ ได้รับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีตกลงจะทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตกลงจะให้สินจ้างแก่ผู้ฟ้องคดีตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้ว่าพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้กิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้น ก็บัญญัติรับรองไว้ว่า ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นความในมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่งดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของบุคลากรทางการศึกษาเอาไว้เท่านั้น มิใช่กำหนดว่า สัญญาจ้างลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าชดเชย และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกร้องกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางเพ็ญจันทร์ ดำโอ ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการโรงเรียนดารุสสลามมูลนิธิ ที่ ๑ นายยาโกบ หมัดอาดัม ที่ ๒ โรงเรียนดารุสสลามมูลนิธิ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share