คำวินิจฉัยที่ 26/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทอีอีซี อินดัสเตรียล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่ ๑ นายสมชาติ พงศ์พฤกษทล ที่ ๒ นายศุภชัย วรมุสิก ที่ ๓ นายศักดิ์ชัย ทักชิญเสถียร ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๘๑๕/๒๕๕๑ ความว่า จำเลยที่ ๑ ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ต่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน โดยจำเลยที่ ๑ ตกลงยินยอมเสียค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญายอมชดใช้ความเสียหายตามการออกหนังสือค้ำประกันของวงเงินที่ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ยินยอมชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจะชำระให้แก่โจทก์ทันทีที่เรียกร้อง กรณีเจ้าหนี้ตามหนังสือค้ำประกันแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิจ่ายเงินตามสัญญาค้ำประกันได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ทราบล่วงหน้า และไม่ต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากลูกหนี้ก่อน และเมื่อโจทก์จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ตามหนังสือค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ ๑ ตกลงยินยอมชดใช้เงินจำนวนที่โจทก์ได้จ่ายไปเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์ประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีอื่นใดที่จำเลยที่ ๑ มีอยู่กับโจทก์เพื่อชำระหนี้ได้ ซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ ๐๔๗-๕-๐๑๔๗๑-๘ ๕๙๙-๐๐๐๐๒-๐๐๑ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ให้ไว้ต่อสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์สูง ๕ ชั้น จำนวน ๑ หลัง สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ของจำเลยที่ ๑ ภายในวงเงิน ๓,๐๕๗,๘๐๕ บาท และหนังสือค้ำประกันเลขที่ ๐๔๗-๕-๐๑๔๗๑-๘ ๕๙๙-๐๐๐๐๑-๐๑๒ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ให้ไว้ต่อเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบบระบายน้ำและถนนมุขมนตรี ซอย ๒๓ และถนนมิตรภาพ ซอย ๒๖ ของจำเลยที่ ๑ ภายในวงเงิน ๓๖๙,๕๐๐ บาท โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเรียกให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน ๒,๒๙๖,๕๙๘ บาท ซึ่งโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว และใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน ๑,๘๓๓,๗๙๘.๙๔ บาท ซึ่งนำไปหักชำระค่าธรรมเนียมสัญญาค้ำประกันจำนวน ๓๔๔,๐๐๓ บาท ส่วนที่เหลือจำนวน ๑,๔๘๙,๗๙๕.๙๔ บาท นำไปหักชำระค่าเสียหายตามสัญญาค้ำประกัน คงเหลือหนี้ค้างชำระจำนวน ๘๐๖,๘๐๒.๐๖ บาท คิดเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินจำนวน ๘๗๕,๒๓๖.๕๖ บาท นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าธรรมเนียมที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ที่ให้ไว้ต่อเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๑๓,๘๕๖.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย คิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๑๔,๐๔๑.๓๒ บาท โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน ๘๘๙,๒๗๗.๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๘๐๖,๘๐๒.๐๖ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๓,๘๕๖.๒๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การและจำเลยที่ ๑ ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ต่อสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ จำเลยที่ ๑ มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวกับสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี”) ต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนำข้อพิพาทเสนอต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ (จำเลยที่ ๑) ต้องรับผิดต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้เรียกร้อง แต่เมื่อเงินค่าเสียหายที่ผู้คัดค้านที่ ๑ จะต้องรับผิดมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้คัดค้านที่ ๒ (โจทก์) ดังนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าเสียหายแก่ผู้เรียกร้องอีก เป็นสิทธิของผู้เรียกร้องที่จะบังคับเอาจำนวนเงินค่าเสียหายที่ขาดอยู่ตามหนังสือค้ำประกันจากผู้คัดค้านที่ ๒ ต่อไป จึงชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท โดยคณะอนุญาโตตุลาการมีความเห็นตรงกันว่ากรณีมีเหตุที่จะลดเบี้ยปรับได้ แต่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจลดเบี้ยปรับตามกฎหมายเนื่องจากเป็นอำนาจของศาลเท่านั้น จำเลยที่ ๑ จึงยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๐๙๒๗/๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องเบี้ยปรับ และมีหนังสือขอให้โจทก์ระงับการชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันด้วยเหตุเป็นหนี้อันไม่สมบูรณ์ แต่โจทก์ฝ่าฝืนชำระหนี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ติดค้างค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ออกให้กับเทศบาลนครนครราชสีมา เนื่องจากหนังสือค้ำประกันดังกล่าวสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์เพราะเทศบาลนครนครราชสีมานำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบฎีกาเบิกจ่ายของเทศบาล ขอให้ยกฟ้อง และการที่โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๑ เพื่อชำระหนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๑,๔๘๙,๗๙๕.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ เคลือบคลุม โจทก์มีอำนาจฟ้อง และไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญากับผู้รับหนังสือค้ำประกัน โจทก์จึงจ่ายเงินตามภาระผูกพันตามสัญญา การที่จำเลยที่ ๑ มีหนังสือขอให้โจทก์ระงับการชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันไม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับจำนวนเงินค่าปรับเป็นข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับคู่สัญญาซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณาและชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการแล้ว การจ่ายเงินของโจทก์จึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยและใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๑ เพื่อชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกันไว้
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาค้ำประกันสัญญาจ้างก่อสร้างที่นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อข้อพิพาทตามสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวได้รับพิจารณาคดีโดยศาลปกครองกลางแล้ว คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเจ้าหนี้ไปแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ ๑ และใช้สิทธิตามสัญญาค้ำประกันอีกฉบับหนึ่งที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทำไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ อันเป็นการฟ้องตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์และโดยลำพังแล้วย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น จำต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีต่อสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏตามสัญญาก่อสร้างอาคารอันเป็นสัญญาทางปกครองอันเป็นสัญญาหลักเสียก่อน ดังนั้น เมื่อสัญญาหลักเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในการปฏิบัติตามสัญญาจ้างอาคารซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันสัญญาจ้างของจำเลยที่ ๑ ต่อเทศบาลนครนครราชสีมานั้น เห็นว่า โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างหาก อันเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักดังกล่าว ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดตามสัญญาหลัก ข้อพิพาทนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ชำระให้สำนักงานสถาบันราชภัฏเจ้าหนี้กับค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ออกไว้ต่อเทศบาลนครนครราชสีมาจากจำเลยทั้งสี่ตามสัญญาที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ที่สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีและสัญญาค้ำประกันอีกฉบับหนึ่งที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทำไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ แม้สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง และสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏจะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างก่อสร้างศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่ข้อพิพาทในคดีนี้มิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาค้ำประกันระหว่างสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับโจทก์ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดจากผลภายหลังการชำระหนี้ที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ตามนัยมาตรา ๖๙๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อพิพาทตามฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสี่ อันเป็นนิติสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ที่เป็นเอกชนด้วยกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่เรื่องสัญญาทางปกครองหรือสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ให้รับผิดกรณีโจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำนวน ๒ ฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ที่สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีระหว่างสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏกับจำเลยที่ ๑ และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบบระบายน้ำและถนนมุขมนตรี ซอย ๒๓ และถนนมิตรภาพ ซอย ๒๖ ระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมากับจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ โจทก์จึงชำระเงินตามข้อตกลงในหนังสือค้ำประกันให้แก่สำนักงานสถาบันราชภัฏแล้วเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยและใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่จำเลยที่ ๑ มีอยู่กับโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว แต่จำนวนเงินที่หักไว้ไม่เพียงพอชำระหนี้ ทั้งจำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าธรรมเนียมที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ที่ให้ไว้ต่อเทศบาลนครนครราชสีมาด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ได้แจ้งให้โจทก์ระงับการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่ง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เมื่อข้อพิพาทคดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างก็เป็นเอกชนด้วยกันเอง ทั้งมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดตามข้อตกลงระหว่างกันที่ให้โจทก์ค้ำประกันการปฏิบัติการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่มีอยู่แก่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและค่าธรรมเนียมการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่เทศบาลนครนครราชสีมาเช่นเดียวกัน อันเป็นนิติสัมพันธ์ที่คู่ความต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่งเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทอีอีซี อินดัสเตรียล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่ ๑ นายสมชาติ พงศ์พฤกษทล ที่ ๒ นายศุภชัย วรมุสิก ที่ ๓ นายศักดิ์ชัย ทักชิญเสถียร ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share