คำวินิจฉัยที่ 24/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัยกับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล จึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการปรับแก้ไขสัญญาจ้างเหมาบริการด้วยการเพิ่มอัตราค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมติคณะรัฐมนตรี และให้ชำระเงินในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่พนักงานเพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ไม่กระทำการนั้น เมื่อมติคณะรัฐมนตรีที่ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งพิจารณาแก้ไขสัญญาว่าจ้างเอกชนดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในลักษณะสัญญาจ้างเหมาบริการ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติของรัฐวิสาหกิจนั้น เป็นแต่เพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยให้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติของรัฐวิสาหกิจที่จะพิจารณาแก้ไขสัญญาได้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่ใช่กฎหมาย การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อย่างไร ก็ตาม เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างเหมาบริการ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับแก้สัญญาจ้างเหมาบริการโดยเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องขอให้คู่สัญญาแก้ไขสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาจัดหาบุคลากรเพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่มิได้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเกี่ยวกับการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐแต่อย่างใด ดังนั้น การทำสัญญาในคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ได้ทำในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นข้อพิพาททางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share