คำวินิจฉัยที่ 24/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐชำระเงินค่าเสียหาย กรณีผิดสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สภาวิชาชีพบัญชี จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยทำสัญญาพิพาทว่าจ้างโจทก์ดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของจำเลย เพื่อให้บุคลากรของจำเลยได้ใช้งาน สัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่จำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์เข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการเพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ ก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๗

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ บริษัทโสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๕๖/๒๕๕๔ ความว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถรองรับภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับระบบงานที่จำเลยใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของบริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหลักประกันไว้กับจำเลย จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงจะดำเนินการภายใน ๓๖๐ วัน ตามเงื่อนไขการส่งมอบและการรับมอบตามสัญญา ข้อ ๘ ในระหว่างดำเนินการจำเลยผิดสัญญา โดยไม่สามารถหาข้อยุติของความต้องการระบบ ทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะพัฒนาระบบได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการทำงานของโจทก์ และโจทก์ได้ส่งมอบงวดงานให้จำเลยตามสัญญาบางส่วนแล้ว คิดเป็นเงิน ๓๔,๐๔๑,๐๐๐ บาท แต่จำเลยชำระค่าจ้างให้เพียง ๖,๙๗๓,๔๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้าง จำนวน ๒๗,๐๖๗,๖๐๐ บาท และค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจ จำนวน ๖๕,๖๗๐,๒๔๔.๓๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ รวมทั้งให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของบริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คืนแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โจทก์ไม่สามารถออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับและปฏิบัติงานได้ตามความต้องการ และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องแล้วแต่กลับเพิกเฉย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างรวมทั้งคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่า จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี โดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การกำหนดมาตรฐาน การกำหนดจรรยาบรรณ การขึ้นทะเบียน การรับรอง การควบคุม การช่วยเหลือ การออกข้อบังคับ การเป็นตัวแทน การให้คำปรึกษาและการดำเนินการอื่นๆ ตามความในมาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๗ (๑) ถึง (๑๔)โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการ และมีกรรมการจากผู้แทนส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพของหัวหน้าส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา ๕ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จำเลยย่อมเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง จึงถือว่าจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประเด็นต่อมาว่า สัญญาจ้างพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาจ้างพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเกิดจากการที่จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชีรวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับระบบงานที่จำเลยใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้บุคลากรของจำเลยได้ใช้งานในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเกี่ยวกับการทำบัญชี การสอบบัญชี การบัญชีบริหาร การวางระบบบัญชี การบัญชีภาษีอากร การศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชีหรือบริการด้านอื่นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกิจกรรมในทางธุรกิจต่างๆ สมควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอยู่ภายใต้การดูแลของสภาวิชาชีพเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมและส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น รวมทั้งให้ความรู้และพัฒนาส่งเสริมมาตรการประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีคุณภาพและมาตรฐานและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ตลอดจนเพื่อให้มีการควบคุมจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องเฉพาะบุคลากรของจำเลยและผู้ประกอบวิชาชีพ โดยบุคคลทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องในระบบดังกล่าว ซึ่งเป็นการว่าจ้างให้โจทก์พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรในองค์กรของจำเลยในการใช้งานเพื่อตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเท่านั้น ย่อมมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งไม่ใช่สัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยมาตรา ๖ กำหนดให้จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี และมาตรา ๗ กำหนดให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา การอบรม และการวิจัยเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี การกำหนดมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี การกำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี การรับขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพบัญชี ออกใบอนุญาต พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี การรับรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชีของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการรับสมัครเป็นสมาชิก การรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพบัญชี การควบคุมความประพฤติ และการดำเนินงานของสมาชิกและผู้ขึ้นทะเบียนอันเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพบัญชีให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชี และมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการอื่น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นการมอบหมายให้จำเลยใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจทางปกครองและดำเนินกิจการทางปกครอง จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจ้างพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามสัญญาเลขที่ ๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของจำเลย เพื่อให้สามารถรองรับภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับระบบงานที่จำเลยใช้อยู่ในปัจจุบันได้ โดยโจทก์สามารถทำงานทั้งโครงการในลักษณะการทำงานแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร ได้แก่ การพัฒนาหรือจัดหาระบบงาน เช่น ระบบงานทะเบียน ระบบงานอบรมสัมมนา และระบบฐานความรู้ การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน การติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างครบวงจร การบริหารโครงการ รวมถึงการให้บริการสนับสนุน การฝึกอบรม และอื่นๆ ในลักษณะโครงการเบ็ดเสร็จด้วย จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลย ตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาหรือจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งควบคุมการประกอบวิชาชีพบัญชีตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยให้บรรลุผล อันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าว กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐชำระเงินค่าเสียหาย กรณีผิดสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคล ซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา การอบรม และการวิจัยเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี การกำหนดมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี ฯลฯ ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยทำสัญญาพิพาทว่าจ้างโจทก์ โดยมีสาระสำคัญว่าให้โจทก์พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของจำเลย เพื่อให้สามารถรองรับภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับระบบงานที่จำเลยใช้อยู่ในปัจจุบันได้ โดยโจทก์สามารถทำงานทั้งโครงการในลักษณะการทำงานแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร เพื่อให้บุคลากรของจำเลยได้ใช้งานในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเกี่ยวกับการทำบัญชี ดังนี้ การดำเนินการตามข้อสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่จำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์เข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการเพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ ก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทโสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) โจทก์ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share