คำวินิจฉัยที่ 24/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๔๕

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่เห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ นายถาวภักดิ์ ตียาภรณ์ ได้ยื่นฟ้องเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่า เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการตามโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก โดยการถมดินลงแม่น้ำปิง ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและสร้างทางตลอดแนวตลิ่งบริเวณชายตลิ่งหน้าที่งอกของผู้ฟ้องคดี โฉนดเลขที่ ๑๓๑ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้รับความยินยอม อันเป็นการบุกรุกที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้บ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดีซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการดำเนินการตามโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการทบทวนแก้ไข พร้อมเรียกค่าเสียหายและขอให้ลงโทษเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกรุกล้ำเข้าไปในที่งอกของผู้ฟ้องคดี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านพักอาศัยรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ด้วยการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นมูลละเมิดในคดีนี้ แม้จะเป็นการที่ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองจึงส่งความเห็นไปให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า การพิจารณาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลใดย่อมจะต้องพิจารณาทั้งสภาพแห่งข้อหาของผู้ฟ้องคดีและคำขอบังคับด้วยประกอบกันทั้งสองส่วน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมิได้เรียกร้องเฉพาะค่าเสียหายและระงับการละเมิดเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น แต่กล่าวอ้างว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและขอให้ระงับหรือยุติการดำเนินการทั้งโครงการกับขอให้ลงโทษเจ้าพนักงานที่ประพฤติมิชอบหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนด้วย ซึ่งคำขอนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เนื่องจากศาลยุติธรรมมิใช่ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว และกฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลยุติธรรมในอันที่จะสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมด ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) รวมทั้งไม่มีอำนาจกำหนดให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตได้ ตามมาตราดังกล่าววรรคสอง คำขอบังคับของผู้ฟ้องคดีนี้ที่ขอให้ระงับหรือยุติทั้งโครงการนอกเหนือจากส่วนที่ตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับต่อศาลยุติธรรมได้ รวมถึงการลงโทษเจ้าพนักงานนอกเหนือจากการกระทำผิดทางอาญาก็เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานทางปกครองที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อพิเคราะห์สภาพแห่งข้อหาของคำฟ้องและคำขอบังคับทั้งหมดแล้ว จึงเห็นว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามความเห็นของศาลปกครองกลางเสียทั้งหมดจนสามารถโอนหรือรับฟ้องทั้งคดีไว้พิจารณาในศาลยุติธรรมได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีฟ้องขอให้ระงับโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิง ด้านตะวันออกชั่วคราวกับให้ชดใช้ค่าเสียหาย และลงโทษเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดี ทำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกโดยการถมดิน ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างเขื่อนและสร้างทาง ในการก่อสร้างปรับปรุงดังกล่าวจะต้องกระทำผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีบริเวณด้านที่ติดกับแม่น้ำปิง เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งสามารถแยกข้อหาออกได้เป็น ๒ ข้อหา คือ ๑. ขอให้ระงับโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกชั่วคราวและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ๒. ขอให้ลงโทษเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำหรับข้อหาแรกนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีคือ เทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๙ มาตรา ๕๖ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามโครงการพิพาทด้วยการถมที่ดิน ตอกเสาเข็ม สร้างเขื่อนและสร้างทางเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่เดินออกกำลังกายและพักผ่อนถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบบริการสาธารณะกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการ ฯ ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อีกทั้งคดีนี้นอกจากผู้ฟ้องคดีจะขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้วยังมีคำขอในข้อ ก. และ จ. โดยขอให้ระงับหรือยุติโครงการริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกเฉพาะส่วนที่ก่อหรืออาจจะก่อความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีไว้จนกว่าจะมีการทบทวนแก้ไขเสียก่อน อันเป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองงดเว้นการกระทำโดยกำหนดเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ข้อหานี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ส่วนข้อหาที่สองนั้น ผู้ฟ้องคดีขอให้ลงโทษเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ แม้ไม่ได้ระบุตัวบทกฎหมายและเลขมาตรา แต่คำขอใช้ถ้อยคำตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหานี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีเป็น ๒ ข้อหา โดยข้อหาแรกที่ขอให้ระงับโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกชั่วคราวและเรียกค่าเสียหายอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง ส่วนข้อหาที่สองที่ขอให้ลงโทษเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share