คำวินิจฉัยที่ 2/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน เป็นเพียงสัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินงานของจำเลยทั้งสอง โดยสัญญามีสาระสำคัญเพียงว่าให้โจทก์ส่งมอบครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน ตามรายละเอียดคุณลักษณะที่ระบุในสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจึงจะออกหลักฐานการรับมอบเพื่อให้โจทก์นำมาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินค่าส่งของนั้น ลักษณะของสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ที่หน่วยงานทางปกครองผู้ซื้อมุ่งผูกพันตนกับผู้ขายซึ่งเป็นเอกชนด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง หรือมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยาม “สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในการทำสัญญาพิพาทจึงไม่จำต้องบังคับตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน ตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share