แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดจากการกระทำละเมิดซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีหรือจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แม้องค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะแซว ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี โดยการบุกรุกเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยการนำรถไถเกลี่ยดินและปักเสาหลักเขตไม้ขยายทางสาธารณประโยชน์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ซึ่งการกระทำละเมิดตามฟ้องดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะเข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งการที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจเข้าไปดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้บูรณะทางสาธารณประโยชน์ โดยนำรถไถเกลี่ยดินและปักเสาหลักเขตไม้ขยายทางสาธารณประโยชน์ได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดและสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม